วันอังคาร, พฤษภาคม 14, 2024
หน้าแรกHighlightพี่ศรีจี้ถาม'รัฐเอื้อกลุ่มทุนหรือ?' รายย่อยอ่วมโดนเลือกปฏิบัติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พี่ศรีจี้ถาม’รัฐเอื้อกลุ่มทุนหรือ?’ รายย่อยอ่วมโดนเลือกปฏิบัติ

“พี่ศรี” มาอีกแล้ว จันทร์นี้ยื่นร้อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สอบ หลังพบพิรุธ “รัฐบาล” แก้ปัญหาโควิด ส่อเอื้อกลุ่มทุน แต่ทุบผู้ประกอบการรายย่อย ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เหน็บ “เอกชนรายใหญ่” เปิดรง.ผลิตหน้ากาก อ้างแจกปชช. แต่คนไทยยังต้องวิ่งหาซื้ออย่างลำบาก แถมร้านสะดวกซื้อเปิดฉลุย ไม่เคยมีไทม์ไลน์ผู้ป่วย แต่กลับปิดตลาดนัด ร้านอาหาร

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.64 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ได้เฝ้าติดตามการทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีข้อพิรุธเป็นที่ผิดสังเกต ที่ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจและเกิดความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก จำเป็นที่จะต้อง “กระชากหน้ากากความจริง” ของรัฐบาล ผ่านการตรวจสอบของ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” โดยสมาคมฯจะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค.64 เวลา 10.00 น.ณ ศูนย์ราชการ อาคาร B ห้อง 903 สำหรับสิ่งที่สมาคมฯตั้งข้อสงสัย คือ

1.กรณีการปิดตลาดนัด เป็นมาตรการป้องกันการระบาด โดยรัฐเริ่มต้นด้วยการเลือกปิดตลาดนัด ปิดร้านอาหาร พ่อค้า-แม่ค้าเดือดร้อน เพราะไม่มีแหล่งขายสินค้า เพื่อหารายได้ รัฐประกาศปิดตลาดนัดเพราะกลัวประชาชนจะไปแออัดกันซื้อสินค้าตลาดตลาดนัด แต่รัฐไม่ปิด “ห้างสรรพสินค้า” ที่มีระบบแอร์ตลอดเวลาและเป็นสถานที่ปิด เป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า แต่เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก จึงผ่อนคลายให้ การดำเนินนโยบายป้องกันดังกล่าวของรัฐ เป็นการเอื้อกลุ่มทุนแต่ทุบผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

2.กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อแจกฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทั่วไป ใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 มีกำลังการผลิตของโรงงานอยู่ที่ 100,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเริ่มผลิตและส่งมอบให้กับทางราชการมาตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันก็น่าจะเกือบ 30 ล้านชิ้นแล้ว แต่ “หน้ากากดังกล่าว” หายไปไหน ทำไมคนไทยยังต้องวิ่งซื้อหามาใช้อย่างยากลำบากอีกเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ มี “หน่วยงานใด” ยักยอกไว้ใช้ โดยไม่นำมาแจกจ่ายให้ประชาชนหรือไม่ หรือว่าโรงงานไม่ได้ผลิตตามที่โฆษณาไว้จริง หรือมีการลักลอบนำเอาหน้ากากไปซื้อขายกันในตลาดมืด

3.กรณีการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้คนไทยอย่างล่าช้า ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนำมาใช้ฉีดให้กับพลเมืองของตนนานแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และล่าสุดประเทศที่เล็กและด้อยกว่าไทย ก็ยังนำวัคซีนมาใช้แล้ว คือ สปป.ลาว แต่สำหรับประเทศไทยโฆษณาชวนเชื่อมานานแล้ว ว่าจะซื้อวัคซีนจาก บริษัท แอสตราเซเนกา (ไทย-อังกฤษ) ซึ่งใช้สูตรยาและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่ง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะเป็นผู้ผลิต และจะเริ่มนำมาใช้ประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย.64 นี้เป็นต้นไปจนครบ 26 ล้านโดส ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ต่อมาไปจัดซื้อวัคซีนบางส่วนที่พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส โดยชุดแรก 2 แสนโดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนก.พ. และชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นมี.ค. และอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเม.ย. ทั้งนี้การที่รัฐบาลไปจัดหาวัคซีนจากจีน มีความเกี่ยวข้องกับการที่มีบริษัทเจ้าสัวจากเมืองไทยไปเข้าถือหุ้น 15% ใน “ซิโนแวค” บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ของจีน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กันและกันหรือไม่ และทำไม “อย.” จึงไม่รีบรับรองวัคซีนของบริษัทต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ รพ.เอกชนสามารถจัดซื้อจัดหามาใช้ได้อย่างรวดเร็วได้ รัฐบาลมีอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น การที่มีการปิดบังไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนทราบ และไม่มีการสั่งปิด แต่กลับมาสั่งปิดสถานที่อื่นๆ แทนนั้น เป็นการเอื้อกลุ่มทุน แต่ทุบผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ด้วย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img