วันอังคาร, พฤษภาคม 21, 2024
หน้าแรกNEWSแก้รธน.วาระ2 ฉลุย "ชวน" นัดโหวตวาระ 3 อีก 15 วัน "ไพบูลย์" ขอบคุณสมาชิก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก้รธน.วาระ2 ฉลุย “ชวน” นัดโหวตวาระ 3 อีก 15 วัน “ไพบูลย์” ขอบคุณสมาชิก

มติรัฐสภาแก้รธน.วาระ2 ฉลุย “ชวน”นัดลงมติวาระ 3 อีก 15 วัน ส.ว.คำนวณสูตรผสมยึดรธน.40-60 มาใช้ ป้องพรรคใหญ่กินรวบส.ส.

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การกำหนดให้การเลือกตั้งบัตรใบที่ 2 ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่า 0.2% ของคะแนนรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณ เพื่อหาสัดส่วนจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเมื่อได้คะแนนดังกล่าวแล้ว จึงนำไปคำนวณเพื่อหาคะแนนพึงมีของแต่ละพรรคการเมือง เมื่อได้จำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงได้แล้ว จึงนำไปลบกับจำนวนส.ส.เขตที่พรรคการเมืองนั้นได้มา จำนวนที่เหลือคือ จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้ 

“การกำหนดขั้นต่ำ 0.2% หากคิดเป็นสมการง่ายๆ เรามีส.ส. 500 คน 0.2% ของ 500 คน คือ ส.ส.1 คน หากเราใช้เกณฑ์นี้ในการคำนวณแล้วเทียบผลการเลือกตั้งในปี 2562 จะพบว่าคะแนนขั้นต่ำ ที่จะถูกนำมานับได้ คือ 7 หมื่นคะแนน คิดว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ไม่มากเกินไป เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วมได้ นอกจากนั้น การกำหนด 0.2% เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ในการคิดคะแนนของพรรคการเมือง จะเป็นการแก้ปัญหาพรรคการเมืองปัดเศษ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 60” นายรังสิมันต์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มาตรา 91 ร่างของกรรมาธิการฯ กำหนดว่า การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งนั้น ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้ง มารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม มีเจตนารมณ์เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี2550 โดยการคิดคำนวณคะแนน 1.การกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละหนึ่งของคะแนนทั้งหมด กล่าวคือ สมมุติคะแนนทั้งหมดมี 40,000,000 เสียง คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 400,000 คะแนน พรรคการเมืองใดได้คะแนนมากกว่า 400,000 ขึ้นไป จึงจะสามารถนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่ำกว่านั้นไม่มีสิทธิ์ วิธีการนี้จะได้ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกินความจำเป็น 2.ให้นำคะแนนที่เลือกทั้งพรรคและเขตมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สะท้อนความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หากจะแก้ไขมาตรา 91 จะต้องมีคำว่า ส.ส.พึงมี จากนั้นเมื่อ นำ ส.ส. พึงมี ลบด้วย ส.ส.เขตแล้ว ถ้าพรรคใดก็ตาม คำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี ลบด้วย จำนวน ส.ส. เขต แล้วไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะได้เขตครบแล้ว ส่วนที่เหลือก็ให้กระจายไปให้กับพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมี แต่มีส.ส.เขตน้อย โดยการไปเพิ่มส.ส.บัญชีรายชื่อให้ ถ้ามีการคำนวณระบบนี้แล้ว การนับคะแนนต่างๆ ก็สามารถไปเขียนรายละเอียดในกฎหมายประกอบได้ คิดว่าถ้าจะสนับสนุนพรรคการเมืองให้เติบโตและเข้มแข็ง ควรกำหนดการนับคะแนนพรรคการเมืองที่ส่งส.ส. บัญชีรายชื่อครบ 100 คน และต้องส่งส.ส. เขต อย่างน้อย 100 เขต เพื่อเป็นการกำกับพรรคการเมืองที่จะเข้าระบบการเลือกตั้งว่า จะต้องเลื่อมใสในการเลือกตั้ง และปรารถนาตั้งพรรค เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)กล่าวว่า ระบบบัตรเลือกตั้ง 2ใบ จะทำให้พรรคใหญ่กินรวบ ได้คะแนนสุดโต่ง มีคะแนนส.ส.พึงมีเกินจริง พรรคใหญ่ๆไม่กี่พรรคจะมีเสียงมากในสภาแบบก้าวกระโดด การแก้ครั้งนี้เป็นการแก้เพื่ออำนาจทางการเมืองจริงๆ ควรเอาข้อดีรัฐธรรมนูญปี40และ60มาผสมกัน สะท้อนความต้องการประชาชนอย่างแท้จริง เลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบได้โดยเสรี มีความเป็นธรรมกับทุกพรรค เลิกระบบมัดมือชก พรรคใหญ่กินรวบ

กระทั่งเวลา 20.00น. หลังจากพิจารณาใกล้เสร็จสิ้น สมาชิกรัฐสภาฯ เสนอให้ลงมติในประเด็นมาตรา 91 แต่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เแย้งว่า เนื่องจากมีสมาชิกหลายคนเสนอแนวคิดการคิดคำนวณคะแนนส.ส.หลายแบบ ขอให้เกิดความละเอียดรอบครอบ เพราะผลการคำนวณคะแนนอาจต้องนำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีผลต่อประเทศ ดังนั้นควรให้สมาชิก ได้ไปคิดกันสักคืน ขอให้พักการประชุม แล้วไปลงคะแนนกันในวันที่ 26 ส.ค. ได้หรือไม่

แต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ยืนกรานให้ลงมติตามเดิม โดยผลการลงมติ ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภา เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก 435 ต่อ 76 เสียง งดออกเสียง 85

ต่อมานายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้สลับมาทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณา มาตรา 4/1 ที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ ระบุว่าในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาบังคับใช้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยมาตรานี้ไม่มีผู้อภิปรายจึงได้มีการลงมติ ผลการลงมติ ปรากฏว่าเสียงที่ประชุมเห็นด้วย 440 ไม่เห็นด้วย 5 งดออกเสียง 132

จากนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกสภา ที่ได้ลงมติเห็นชอบในมาตราต่างๆในวาระ2 คณะกรรมาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการพิจารณาวาระ3 หวังว่า สมาชิกรัฐสภา จะได้ลงมติมาตรา 83 91 โดยเห็นชอบ เพื่อให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ถือว่าพิจารณาเรียงลำดับตามมาตราเสร็จสิ้นแล้ว

นายชวนกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา256 ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นวาระ2 แล้ว จะต้องรออีก 15 วัน แล้วให้รัฐสภาฯลงมติวาระ3ต่อไป จึงแจ้งให้สมาชิกรับทราบ และได้สั่งปิดประชุมเวลา 20.22น. 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img