วันศุกร์, พฤษภาคม 24, 2024
หน้าแรกHighlightสธ.เริ่มทดลองวัคซีน HXP-GPOVac ระยะ 3 กับอาสาสมัคร 4 พันคน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สธ.เริ่มทดลองวัคซีน HXP-GPOVac ระยะ 3 กับอาสาสมัคร 4 พันคน

“อนุทิน” ชื่นชมอาสาสมัคร 4 พันคนรับวัคซีนป้องกันโควิด ผลิตโดยคนไทย สร้างความมั่นคงให้ประเทศ ขอทุกคนมั่นใจความปลอดภัย หวังเป็น “วัคซีนเมดอินไทยแลนด์”

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 ที่จังหวัดนครพนม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดโครงการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรม (HXP-GPOVac) ระยะที่ 3 (การทดลองในมนุษย์) เปรียบเทียบกับวัคซีน โควิด-19 ชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการวิจัยที่เราได้ดำเนินการมาโดยตลอดและมีความคืบหน้า จนมาถึงจุดที่เราสามารถวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 คือการใช้วัคซีนในอาสาสมัคร 4,000 คน ถือเป็นผู้อุทิศตน เป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ถือเป็นวีรบุรุษเป็นวีรสตรี ที่จะทำให้การพัฒนาวิจัยวัคซีน เป็นผลสำเร็จมีคุณูปการต่อคนไทยทั้งประเทศ

อนุทิน ชาญวีรกูล

“ผมขอคารวะผู้กล้าทั้ง 4,000 คน ทราบมาว่าส่วนใหญ่เป็นพี่น้อง อสม. ซึ่ง ท่านเหล่านี้ยกระดับอสม.ขึ้นอีกหลายขั้น ทำให้ตนและคนไทยรู้สึกจุกในอก ตื้นตันใจ ขอให้ท่านและญาติๆ ทั้งหลายไม่ต้องกังวล ตนสอบถามผู้อำนวยการเภสัชกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เราเดินมาถึงจุดนี้ได้เพราะเราผ่านการประเมินจุดเสี่ยงมาแล้ว เราไม่ให้ท่านได้รับของที่เป็นอันตราย แม้ 0.001% อย่างแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ แต่วัคซีนทุกตัวล้วนมีคุณสมบัติที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ไม่เสียชีวิต หากได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้คำแนะนำไว้ การที่เราพัฒนาวัคซีนเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการให้พี่น้องคนไทย มีวัคซีนอยู่ในประเทศไทย ผลิตโดยองค์การเภสัชฯ ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน และเป็นโรงงานผลิตยาที่มีคุณภาพระดับโลก หากสำเร็จก็พร้อมขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นรากฐานให้กับคนไทย ประเทศไทย เป็นสิ่งเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย

วัคซีน HXP-GPOVac

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรา จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีนโควิดทุกสายพันธุ์เพื่อฉีดให้กับคนไทยทั้งสิ้นเกือบ 80,000 ล้านบาท หากเราผลิตเองได้ก็จะประหยัดอย่างแน่นอน แต่เรื่องของสุขภาพประชาชนเราคงไม่ได้ดูแต่ตัวเลขงบประมาณ สิ่งที่สำคัญคือชีวิตสุขภาพที่ดีมีความปลอดภัยของประชาชน นี่คือเหตุผลมีการพัฒนาวัคซีนพึ่งพาคนอื่นให้น้อยพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด และไม่ต้องกังวลเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้เชื่อว่าหากองค์การเภสัชฯ ทำได้สำเร็จก็จะมีความร่วมมือจากต่างประเทศอีกมากมายที่จะเข้ามาใช้รากฐานจากตรงนี้เพิ่มเติม เช่นก่อนนั้นที่มีการประชุมเรื่องวัคซีนที่ประเทศเกาหลีใต้เราก็ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ในเกาหลีรายหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมกับองค์การเภสัชฯ ในการพัฒนาวัคซีนต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เราต้องตีไข่ให้แตก เมื่อตีไข่แตกแล้วก็จะมีอย่างอื่นตามมาแน่นอน แล้ววันนี้คนที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมวัคซีนเรื่องความมั่นคงทางด้านวัคซีนของไทย ก็คืออาสาสมัคร 4,000 คน

แถลงข่าวงานเปิดโครงการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรม (HXP-GPOVac) ระยะที่ 3 (การทดลองในมนุษย์)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ขอย้ำว่าวัคซีนมีความปลอดภัย เพราะการพัฒนาวัคซีนมีการตรวจสอบทางแลปถึงความปลอดภัยอยากเข้มข้นตามมาตรฐานความปลอดภัยของโลก ก่อนนำมาฉีดในคน จากนี้ก็ต้องมีการช่วยกันในการศึกษาติดตามต่อไป ซึ่งถ้าสำเร็จจะเป็นวัคซีน ป้องกันโรคโควิด 19 Made in Thailand เจ้าแรกของประเทศไทย

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนฯ

ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า ครั้งนี้ เป็นการวิจัยกันด้วยมาตรฐานระดับโลกเพราะเป็นความร่วมมือกับระดับโลกไม่ได้ทำการวิจัยเพียงลำพัง ทั้งโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กร PATH ฯลฯ มีการทดลองตามขั้นตอนจนมาถึงระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะต้องนำข้อมูลไปขึ้นทะเบียน เพื่อนำมาใช้จริง ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อให้เราพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อเกิดวิกฤตจะได้ไม่ต้องวิ่งหาวัคซีน แย่งวัคซีนเหมือนช่วงแรกที่แม้รัฐบาลทุ่มงบประมาณ แต่ซื้อได้น้อย เพราะตอนแรกคนแย่งซื้อกันเยอะ ทั้งนี้ เรายังร่วมกับบราซิล และเวียดนามในการพัฒนาด้วยเช่นกัน

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 องค์การเภสัชกรรมได้มีการปรับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟักเพื่อให้พร้อมสำหรับรองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ จากข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในปี 2564 และระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2564-2565 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวนี้มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จากนั้นได้คัดเลือกสูตรตำรับที่เหมาะสมสำหรับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งหากผลการศึกษาในระยะที่ 3 เป็นที่น่าพอใจ จะสามารถยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ในปี 2566 และกระจายวัคซีนสู่ผู้ใช้ได้หลังจากนั้น โดยองค์การเภสัชฯ มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนดังกล่าวประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img