วันพุธ, พฤษภาคม 22, 2024
หน้าแรกHighlightย้ำไม่ควรใช้‘ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin’ เพื่อมารักษาโควิด-ชู 2 งานวิจัยชี้ไร้ผล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ย้ำไม่ควรใช้‘ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin’ เพื่อมารักษาโควิด-ชู 2 งานวิจัยชี้ไร้ผล

“หมอธีระ” ย้ำไม่ควรใช้ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin เพื่อรักษาโควิด-19 หยิบ 2 งานวิจัยล่าสุดชี้ชัด ไม่ได้ช่วยให้ลดการเสียชีวิต หรือกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย ทั้งมีแนวโน้มที่กลุ่มที่ได้รับยานั้นจะต้องได้รับการใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “ไม่ควรใช้ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin เพื่อรักษาโควิด-19” มีเนื้อหาว่า…ตอนนี้หนึ่งในข่าวที่พูดกันเยอะคือเรื่องการเสนอให้ใช้ยา Ivermectin เพื่อดูแลรักษาโควิด-19 Ivermectin เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาพยาธิชนิดต่างๆ การที่โควิด-19 เป็นโรคใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมีทางเลือกในการใช้รักษา และมีการระบาดรุนแรงทั่วโลก จนมีการติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีความพยายามใช้ยาต่างๆ มาลองว่าสามารถใช้ในโควิด-19 ได้หรือไม่ ด้วยความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่ควรใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโควิด-19 ครับ โดยจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานวิจัยล่าสุด 2 ชิ้นที่หาคำตอบเรื่องนี้

Roman YM และคณะจากอเมริกาและเปรู ได้ทำการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อระดับโลกอย่าง Clinical Infectious Diseases วันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมจำนวนทั้งสิ้น 10 ชิ้น โดยศึกษาผลของยา Ivermectin ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย 8 ชิ้น อาการปานกลาง 1 ชิ้น และอาการน้อยถึงปานกลางอีก 1 ชิ้น รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,173 คน โดยเปรียบเทียบผลของการรักษาในกลุ่มที่ได้ยากับกลุ่มที่ได้ยาหลอกหรือการดูแลรักษามาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่า Ivermectin ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และระยะเวลากำจัดเชื้อออกจากร่างกาย

Vallejos J และคณะ ทำการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ BMC Infectious Diseases วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ศึกษาที่อาร์เจนตินา ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จำนวน 501 คน ในช่วง 19 สิงหาคม 2563-22 กุมภาพันธ์ 2564 เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ยา Ivermectin กับกลุ่มที่ได้ยาหลอก เพื่อดูว่าจะช่วยลดโอกาสนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยได้หรือไม่

ผลการวิจัยพบว่า อัตราการนอนโรงพยาบาลของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน และมีแนวโน้มที่กลุ่มที่ได้รับยานั้นจะต้องได้รับการใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา แม้การวิจัยนี้จะยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ แต่พอประมวลรวมหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ว คงต้องยอมรับว่า ยังไม่ควรนำยา Ivermectin มาใช้ในการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง

  1. Roman YM et al. Ivermectin for the treatment of COVID-19: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Clin Infect Dis. 2021 Jun 28;ciab591.
  2. Vallejos J et al. Ivermectin to prevent hospitalizations in patients with COVID-19 (IVERCOR-COVID19) a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. BMC Infect Dis. 2021 Jul 2;21(1):635.
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img