วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 16, 2024
หน้าแรกHighlightเปิดคุณสมบัติ“ผู้หญิง”รับจ้าง“อุ้มบุญ” ต้องขึ้นทะเบียน-ปิดช่อง“รับจ้างท้อง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดคุณสมบัติ“ผู้หญิง”รับจ้าง“อุ้มบุญ” ต้องขึ้นทะเบียน-ปิดช่อง“รับจ้างท้อง”

เปิดคุณสมบัติ “ผู้หญิง” เข้าเกณฑ์รับจ้างอุ้มบุญถูกกฎหมาย เล็งขึ้นทะเบียนกับ “สบส.” สถานพยาบาล ปิดช่อง “รับจ้างท้อง” ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.65 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการแก้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กฎหมายอุ้มบุญ) กรณีที่มีแนวคิดให้สาวไทยสามารถรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ได้ว่า โดยหลักจะมีเกณฑ์กำหนดว่า ผู้ที่จะสามารถรับอุ้มบุญได้ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีการปรับแก้อะไรในส่วนนี้ ยกเว้นกรณีที่จะปรับให้สามารถรับจ้างได้เท่านั้น ทั้งนี้ข้อกำหนดในเบื้องต้น คือเป็นหญิงที่เคยมีลูกมาก่อน แต่ต้องไม่มีลูกเกินกี่คน อายุขั้นต่ำ และอายุสูงสุดที่ให้ตั้งครรภ์ได้ เป็นต้น เพราะหากมีลูกมาก จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงได้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อเสนอ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดระบบเป็นทางการ ว่าคนที่จะมาเป็นแม่อุ้มบุญต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน และมีรายได้ แทนที่จะไปลักลอบรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่า สาวโสดเข้าเกณฑ์ สามารถทำได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เกณฑ์ของผู้หญิงที่จะมารับอุ้มบุญนั้น มีเกณฑ์เดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้อนุญาตให้สาวโสดทำ เพราะการตั้งครรภ์ต้องมีประสบการณ์ในการดูแลการตั้งครรภ์ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 9 เดือน หากคนไม่มีประสบการณ์ ตอนแรกเข้ามาอาจจะตั้งใจทำ แต่พอใช้ อาจจะถอดใจภายหลังได้ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นเรื่องไข่ มีการฉีดฮอร์โมนเข้าไป หากเป็นสาวโสดก็จะไม่มีกลไกตรงนี้มาก่อนก็อาจจะมีปัญหา

เมื่อถามต่อว่า การขึ้นทะเบียนรับจ้างอุ้มบุญต้องขึ้นตรงกับ สบส. หรือเปิดให้ทำผ่านเอเจนซี่ได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า อันนี้เราจะเสนอหลักการก่อน หากอนุกรรมการแก้ไขกฎหมายเห็นด้วย ก็ไปร่างแนวทาง แต่ส่วนตัวเห็นว่า หากสมมติเห็นด้วย แล้วมาทำการขึ้นทะเบียน ก็สามารถขึ้นทะเบียนกับสบส.ก็ได้ หรือจะขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลก็ได้ หรือขึ้นทะเบียนไว้ตรงกลางก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ว่า มีตัวตน มีคุณสมบัติ จะได้ไม่ถูกหลอกหรือแอบทำแบบผิดกฎหมาย เหมือนในอดีตก่อนจะมีกฎหมายนี้เกิดขึ้น ที่มีการแอบทำแล้วพบว่าทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญมีภาวะดาวน์ซินโดรม ทำให้ผู้ว่าจ้างหนีไป คนอุ้มบุญก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะตัวเองทำผิดกฎหมาย

“ตามกฎหมาย เราให้คนที่รับอุ้มบุญ ต้องเป็นเครือญาติ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้กับคนที่อาจจะไม่มีญาติ แต่อยากมีลูกสามารถให้คนอื่นรับอุ้มบุญให้ได้ กรณีที่บอกว่าคนอื่นนี่แหละ ก็เป็นการรับจ้างอุ้มบุญ แต่ไม่ได้พูดว่ารับจ้างเท่านั้นเอง ดังนั้นเรากำลังทำให้เรื่องนี้ขึ้นมาอยู่บนดิน ไม่ถูกกดขี่” นพ.ธเรศ กล่าวและว่า นอกจากนี้กฎหมายยังจะมีการแก้ไขเพิ่มอัตราเจ้าพนักงาน และแก้ไขให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในไทย รวมถึงการเปิดให้ฝากไข้ สเปิร์ม ตัวอ่อน ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายปัจจุบันมีข้อกำหนดว่า การดำเนินการตั้งครรภ์แทนผู้ให้บริการจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) โดยยื่นเอกสารที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเคยมีบุตรมาแล้ว โดยคลอดทารกตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หากผ่าคลอดต้องไม่เกิน 1 ครั้ง และมีอายุระหว่าง 20-40 ปี ทั้งนี้หญิงรับตั้งครรภ์แทนรับอุ้มได้ไม่เกิน 2 ครั้ง คู่สมรสที่ใช้วิธีการอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และห้ามเลือกเพศทารก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img