วันอังคาร, พฤษภาคม 14, 2024
หน้าแรกNEWS“ชวน”ชี้ใครมาเป็น“ปธ.สภา”ต้องช่วยกันทำงานเดินไปให้ได้ เชื่อไม่มีปัญหา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ชวน”ชี้ใครมาเป็น“ปธ.สภา”ต้องช่วยกันทำงานเดินไปให้ได้ เชื่อไม่มีปัญหา

“ชวน” ชี้ปม 2 พรรคใหญ่ชิงประมุขนิติบัญญัติไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปกติพรรคอันดับหนึ่ง สอนปธ.สภาฯทำอะไรไม่ได้ ยันใครมาเป็นต้องช่วยกันทำงานสภาฯเดินหน้าไปได้

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เวลา14.30 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีการเลือกประธานสภาฯ ที่ยังไม่ลงตัวจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะอาจเป็นประสบการณ์ที่บางฝ่ายอาจจะไม่เคย โดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก มักจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาพรรคที่มีเสียงมากกับเสียงรองลงมาจะเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่ครั้งนี้พรรคที่มีคะแนนลำดับ1และลำดับ2 ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเป็นประธานสภาฯ แต่ความวิตกกังวลว่าใครมาเป็นประธานสภาฯ แล้วจะได้เปรียบในการการเสนอกฎหมายหรือญัตติมันไม่มีผล เพราะประธานสภาฯต้องเป็นกลาง กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เช่นนั้น

นายชวน กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 55 ปีของตนที่ได้เห็นทั่วไป ไม่ว่าประธานจะมาจากที่ไหน ก็จะเป็นกลาง อาจจะมีสัก 1-2 รายที่เคยมีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลสั่งให้ทำอะไรที่ไม่ค่อยถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้ตนไม่ค่อยเห็นว่าจะทำได้ แม้แต่การที่เอากฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภาฯ และถ้าไปเทียบว่าตอนเป็นฝ่ายค้านกฎหมายเสนอยาก ต่อไปนี้เป็นรัฐบาลก็จะชดเชย โดยทั่วไปเป็นรัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายได้ เป็น100 ฉบับ แล้วสามารถพิจารณาได้โดยสภาฯต้องพิจารณาตามที่รัฐบาลขอ เช่น ขอให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วน สภาฯก็จะบรรจุเป็นเรื่องด่วน ไม่แปลกอะไรที่กฎหมายของรัฐบาลจะผ่านการพิจารณาทุกเรื่อง แต่กฎหมายฝ่ายค้านอาจไม่ได้พิจารณาเลย เพราะเขาพิจารณาเรื่องด่วนก่อน

นายชวน กล่าวต่อว่า กรณีกฎหมายการเงินก็เช่นเดียวกัน ประธานสภาฯไม่มีสิทธิ์ไปสั่งเอง ต้องให้นายกฯสั่งว่าเป็นการเงินแล้วรับรองให้หรือไม่ สภาฯมีหน้าที่เพียงส่งให้ไปวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ และไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพิจารณาอยู่ จะไปบอกว่าไม่ใช่กฎหมายการเงินแล้วบรรจุระเบียบวาระไม่ได้ เพราะหากสั่งผิดไปก็จะมีปัญหา

“ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องตัวบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าเป็นห่วงว่าใครเป็นแล้วเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ผมคิดว่าทำได้ยาก แม้กระทั่งที่กฎหมายที่เสนอช้ากว่าของคนอื่นไป 5 นาทีเขาก็ให้ฉบับที่เสนอก่อนบรรจุก่อน เพราะมีกฎเกณฑ์บังคับไว้ประธานจะไปละเมิด เป็นเรื่องยาก มิเช่นนั้นจะถูกสมาชิกตรวจสอบได้” นายชวน กล่าว

เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่าในสภาฯสมัยที่แล้ว การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้รับการพิจารณา นายชวน กล่าวว่า ตนอธิบายให้ฟังแล้วว่าการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่1ในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลกฎหมายนี้ และดูแลพ.ร.บ.ทุกฉบับ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา มีเพียงฉบับดังกล่าวที่นายสุชาติ มีความเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จึงมีความเห็นให้ส่งคืนผู้เสนอเพื่อให้แก้ไข แต่ผู้เสนอญัตติรับไปแล้ว และยืนยันไม่แก้ไข เมื่อไม่แก้ไข ก็ไม่ได้มีการบรรจุเข้าสู่วาระ ตนเห็นว่านายสุชาติรอบคอบมาก ที่มีการกลั่นกรองออกมาแบบนี้

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกล และดันการแก้ไขมาตรา 112 อีกได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่ ตนจะพูดก่อนล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สภาฯ ใครบรรจุระเบียบวาระต้องดูว่าวาระเป็นของใคร เป็นของรัฐบาลหรือไม่ ปกติแล้วถ้ารัฐบาลดเสนอเข้ามา สภาฯก็จะพิจารณา เพราะถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร และการที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอะไรมา แสดงว่ารัฐบาลได้พิจารณาโดยผ่านกระบวนการมาแล้ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้สังคมถกเถียงกันว่าประธานสภาฯควรเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์การทำงาน นายชวน กล่าวว่า ใครก็ตามที่เข้ามาต้องช่วยกัน สมาชิกต้องให้ความร่วมมือกับประธาน ใช้สามารถทำงานไปได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการรักษาระบบของฝ่ายนิติบัญญัติให้เข้มแข็ง ดำเนินงานไปได้ ฉะนั้นไม่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า ตนคิดว่าทุกฝ่ายคงจะให้ความร่วมมือ

เมื่อถามอีกว่า ตามมารยาทควรเสนอคนข้ามพรรคมาเป็นประธานสภาฯได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุม คราวที่ตนเป็นประธานสภาฯ ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับ 4-5 ในการร่วมรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปประธานสภาฯควรเป็นคนของพรรคอันดับ 1 แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ลงมติร่วมรัฐบาล แล้วให้ตนรับตำแหน่งประธานสภาฯ โดยไม่คิดสัดส่วน และไม่กระทบต่อโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคร่วมขณะนั้นไม่เกี่ยงว่าจะต้องตัดโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์

“ต้องยอมรับว่าสภาฯของเราตอนนั้นว่างเว้นการเลือกตั้งมา 5 ปี ดังนั้นการทำให้สภาฯเดินไปราบรื่นเป็นไปได้ยาก เพราะสมาชิกเกินครึ่งมาใหม่ และไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่เที่ยวนี้ ถึงแม้จะมีส.ส.ใหม่เกินครึ่ง แต่เราผ่านประสบการณ์มาแล้ว 4 ปี หลายฝ่ายได้เรียนรู้อะไรมากพอสมควร เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการประท้วง หรืออภิปรายจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ก็ยังหวังภาพบวกของสภาฯอยู่ แต่ทั้งหมดคงไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร ยืนยันว่าใครมาเป็นประธานสภาฯก็ตามเราต้องช่วยสนับสนุนให้งานสภาฯเดินไปได้ตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา” นายชวน กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img