วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSบันไดลง-โหวตแก้รธน. ถ้าเสี่ยงสูง คาดเล่นบทเพลย์เซฟ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บันไดลง-โหวตแก้รธน. ถ้าเสี่ยงสูง คาดเล่นบทเพลย์เซฟ

ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ ทั้งแกนนำรัฐบาล-ส.ส.รัฐบาล-ส.ส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทั้งหมดคือ บุคคลที่ต้องเข้าห้องประชุมร่วมรัฐสภา กลางสัปดาห์หน้านี้ในช่วง 17-18 มี.ค. เพื่อลงมติ

เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ”

กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระสาม เพราะตอนนี้ สมาชิกรัฐสภาหลายคน ยังมองต่างมุมกันมากมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยคำร้องในญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเสนอเป็นญัตติส่งมาให้ศาลรธน.วินิจฉัยเรื่องอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรธน.มาตรา 256 ที่นำไปสู่การร่างรธน.ฉบับใหม่ โดยศาลรธน.มีคำวินิจฉัยว่า

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรธน.ฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารธน.ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรธน.ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรธน.ฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรธน.ฉบับใหม่อีกครั้ง”

โดยเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ออกมาดังกล่าว โดยไม่ได้ระบุให้ชัดว่า การทำประชามติดังกล่าว ที่คำวินิจฉัยบอกให้ทำสองครั้ง แต่ครั้งแรกก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังร่างรธน.ออกมาแล้ว ครั้งแรกดังกล่าว  ให้ทำตอนไหน ต้องทำก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรธน.วาระแรกหรือให้ทำหลังการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.วาระสามเสร็จสิ้นแล้ว

เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรธน.วาระแรกและวาระสองพิจารณาเรียงรายมาตราเสร็จสิ้นไปแล้ว ขณะนี้กำลังจะรอโหวต “วาระสาม” กันช่วง 17-18 มี.ค.นี้

จึงเกิดคำถามสำคัญว่า การโหวตวาระสาม รอบนี้ ถือว่าเป็นการดำเนินการตามคำวินัยฉัยของศาลรธน.ได้หรือไม่ -หากมีการโหวตไป สมาชิกรัฐสภาที่ลงมติจะมีความผิดฐานกระทำนอกเหนือจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

ตรงนี้คือประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในกลุ่มแกนนำรัฐบาล-ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านและสว. เพราะหลายคน เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพันกับทุกองค์กร หากไปลงมติแล้วฝ่าฝืนกับคำวินิจฉัย ฯ ก็อาจถูกร้องเอาผิดได้ เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีการจ้องกันอยู่โดยเฉพาะขาประจำ “ศรีสุวรรณ จรรยา-เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ที่ขู่ว่าหากสมาชิกรัฐสภาคนใดลงมติ ในวาระสาม ถือว่าเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.2561 และเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 2 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 อย่างร้ายแรง จะมีการดำเนินการเอาผิด-ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งแน่นอน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ สมาชิกรัฐสภาหลายคนหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถโหวตลงมติ ในวาระสามได้ ด้วยเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ให้ลงประชามติครั้งแรกถามประชาชนก่อนการร่างรธน.ฉบับใหม่ ไม่ได้ระบุชัดว่า ให้ลงประชามติตอนไหน แต่กระบวนการของรัฐสภาเวลานี้ กำลังจะเข้าสู่ ขั้นตอนตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ที่มาตราดังกล่าว สาระสำคัญโดยสรุปก็คือ หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขรธน.วาระสามแล้ว หากว่าร่างฯดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดตาม 256 (8) ก่อนนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องส่งไปทำประชามติก่อน ซึ่งพบว่า ร่างฯที่แก้ไขอยู่ตอนนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ในหมวด 15 ที่ตรงกับมาตรา 256 (8) ดังนั้น หากรัฐสภาโหวตเห็นชอบวาระสามกลางสัปดาห์นี้ ประธานรัฐสภา ก็ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้ ต้องส่งไปทำประชามติอยู่ดี

สมาชิกรัฐสภา กลุ่มที่หนุนให้โหวตวาระสาม จึงเห็นว่า หากโหวตวาระสาม แล้วถ้าร่างฯ ผ่าน ก็ส่งไปทำประชามติ จึงเข้ากับคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ออกมา ที่ให้ทำประชามติถามประชาชนฯ ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายสนับสนุนให้โหวตวาระสาม จึงเห็นว่า การโหวตวาระสามกลางสัปดาห์นี้สามารถ ทำได้ ไม่ขัดรธน. อีกทั้งตอนหลัง สื่อบางแห่ง เริ่มมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของ ตุลาการศาลรธน.บางคน อาทิ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก” ที่ในคำวินิจฉัยส่วนตนระบุตอนหนึ่งว่า “มาตรา 256 (8) ที่บัญญัติว่า “…ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ…” มิได้มีเจตนารมณ์ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนเสนอญัตติแต่ประการใด ดังนั้น การจัดให้มีการออกเสียงประชามติจึงสามารถทำได้ในช่วงเวลาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง” จึงถูกตีความว่า หมายถึงตุลาการศาลรธน.รายนี้ ก็เห็นว่า สามารถทำประชามติหลังผ่านวาระสามก็ได้

ขณะที่ “ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้โหวตวาระสาม” แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน. หมายถึง ก่อนที่รัฐสภาจะดำเนินการเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรธน. ต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.หรือไม่ หากประชามติออกมาว่าเห็นด้วย จากนั้น พอมีการร่างรธน.ฉบับใหม่เสร็จ ถึงค่อยนำร่างรธน.ไปทำประชามติอีกรอบ

ข้อถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ของส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สว. ที่ในกลุ่มเหล่านี้ด้วยกันเอง ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะหากไปถึงช่วง 17-18 มี.ค.แล้วคำวินิจฉัยกลางของศาลรธน.ยังไม่ออกมาแบบชัดๆ ก็ย่อมทำให้ สมาชิกรัฐสภาหลายคน ย่อมลังเล-กังวลใจ แน่นอนว่า จะเอาอย่างไร จะลงมติดีหรือไม่ หรือจะใช้วิธี “เพลย์เซฟตัวเอง” คือ “งดออกเสียง-ไม่เข้าประชุม” เพื่อที่หากเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง จะได้ไม่โดนร้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง เข้าทำนอง “ปลอดภัยไว้ก่อน” !

เพราะแม้แต่ “วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แกนนำรัฐบาลฝ่ายกฎหมาย” ก็ยอมรับว่า “ความเห็นที่ยังไม่ตกผลึกต่อคำวินิจฉัยที่ออกมา ทำให้ความเสี่ยงก็จะมี เพราะคำวินิจฉัยออกมาอย่างนี้แล้วก็มีอีกฝ่ายที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยในการโหวตวาระสามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีกของ ส.ว.และ ส.ส. ก็อาจมีความเป็นไปได้เมื่อโหวตวาระสาม 1.อาจจะไม่มีคนมาประชุม 2.มาแต่งดออกเสียงเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือ 3.ลงมติไม่เห็นชอบหรือคว่ำเสียให้มันตกไปให้จบเรื่อง แล้วค่อยไปเริ่มต้นกันใหม่”

“สรุปง่ายๆ คืออยู่ที่สภาว่าจะต้องคิดอย่างไร ถ้าสภาคิดว่าอย่างนั้นไม่รู้จะไปโหวตทำไมก็จบ และถ้าเป็นอย่างนี้ในวันที่ 17 มีนาคม เวลา 09.30 น. ก็ให้คุยกันเสียก่อน แต่ถ้าสภาบอกว่าให้ลงมติแล้วค่อยไปคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร ก็ลงไป แต่มีโอกาสที่สมาชิกสภาจะงดออกเสียงเป็นไปได้สูง สูงมากด้วย” วิษณุ รองนายกฯ ที่มีน้องชาย พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม เป็นสว.ด้วย ระบุ

ประเมินสถานการณ์ถึงตอนนี้ ดูแล้ว แนวโน้มของเรื่องนี้อาจออกมา ทั้งในรูปแบบของ การที่การประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้านี้  จะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะในรธน.บอกว่า การโหวตวาระสาม ต้องทิ้งช่วงจากหลังพิจารณาวาระสองไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ไม่ได้บอกว่า ต้องโหวตวาระสามให้เสร็จภายใน 15 วัน คือจะกี่วันก็ได้ ดังนั้น เลยมีข้อเสนอให้ ใช้วิธี “รัฐสภาเลื่อนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอการทำประชามติ” สอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็คือ ช่วง 17-18 มี.ค.นี้ ก็ไม่ต้องโหวตวาระสาม พิจารณาแต่ร่างพรบ.ประชามติฯ อย่างเดียว แล้วก็ทิ้งร่างแก้ไขรธน.ไว้เฉยๆ จากนั้น ก็เรียกร้องให้ รัฐบาลและกกต.ดำเนินการทำประชามติถามประชาชน

หรือไม่ก็อาจออกมาในรูปแบบของการเดินหน้าลงมติโหวตวาระสาม เพราะมองว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้ แต่คาดว่า แนวโน้ม จะมีสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะ “สมาชิกวุฒิสภา” จะไม่ร่วมลงมติ หรืองดออกเสียง ไม่เข้าประชุม เพื่อเพลย์เซฟตัวเอง

ต้องไม่ลืมว่า “สว.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.อยู่แล้ว” ดังนั้น ก็จะใช้โอกาสที่คำวินิจฉัยของศาลรธน.ไม่ชัดเจน เลยยกมาเป็นเหตุผลที่จะออกเสียงหนุนการแก้ไขรธน.ไม่ถึง 84 เสียง หรือไม่ถึง 1 ใน 3 “ซึ่งหากเสียงสว.โหวตไม่ถึง 84 เสียง ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรธน.วาระสาม ตกไปในทันที” โดยไม่แน่ แม้แต่ส.ส.พรรครัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” ก็อาจเซฟตัวเองแบบสว.ด้วยเช่นกัน คืองดออกเสียง โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรธน.ไม่ชัดเจน จนทำให้สุดท้าย เสียงเห็นชอบ ก็จะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จนทำให้ ร่างแก้ไขรธน.ตกในวาระสาม

เสียงส่วนใหญ่ในสมาชิกรัฐสภา ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สว. จะเลือกทางออกแบบไหน ถึงตอนนี้ดูเหมือนพอเห็นเค้าลางกันบ้างแล้ว แต่น่าจะชัดมากขึ้นในช่วง วันจันทร์-อังคารนี้ 15-16 มี.ค. ที่ดูแล้ว เส้นทางการแก้ไขรธน.รอบนี้ มีความเสี่ยงสูงที่อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันทั้งขบวน 

………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img