วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 23, 2024
หน้าแรกHighlight“คนก้าวไกล”แจงเหตุชงยุบ“กอ.รมน.” หวังให้“อำนาจปชช.”อยู่เหนือกองทัพ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“คนก้าวไกล”แจงเหตุชงยุบ“กอ.รมน.” หวังให้“อำนาจปชช.”อยู่เหนือกองทัพ

“รอมฎอน” แจงเหตุ “ก้าวไกล” ชงยุบ กอ.รมน. หวังให้อำนาจปชช.เหนือกองทัพ เชื่อสภาฯเป็นทางออกถกยุบ กอ.รมน. ขอ “นายกฯ”-รับรองกฎหมายส่งสภาพิจารณา หากไม่รับรองภาพลักษณ์รัฐบาลพลเรือนมัวหมอง

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.66 ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณียื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.ศ.2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ว่า ที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ เรายื่นมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายชุดแรกของพรรคก้าวไกลที่ยื่นต่อสภาฯ ซึ่งการยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน. มีหลักใหญ่ทั้งเรื่องการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เรื่องการปรับเปลี่ยนระเบียบราชการกลาโหม เรื่องการแก้ไขระเบียบวินัยการคลังของกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงการยกเลิกคำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก 4 ฉบับ การพยายามจะเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ และระบบงานความมั่นคงของประเทศนี้ หัวใจคือการพูดถึงประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย เราต้องการสร้างและสถาปนาหลักการประชาธิปไตย ที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ และพยายามทำให้กองทัพอยู่ห่าง หรือออกจากการเมืองมากที่สุด การยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นอยู่หลายประการ ประกอบด้วย การพยายามทำให้ความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของพลเรือน ไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงแค่บทบาท และหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น หลักการพลเรือนเป็นใหญ่ ควรเป็นหมุดหมายสำคัญที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยของเรา และทำให้เรื่องความมั่นคงที่เคยผูกขาดอยู่กับเพียงกองทัพ มาอยู่ในมือของประชาชน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน ในการบริหารราชการที่มีความโปร่งใส และมีความชอบธรรม

นายรอมฎอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวองค์กรกอ.รมน. เอง ก็มีข้อถูกเถียง และมีข้อกล่าวหามากในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริง มีความไม่โปร่งใสในการบริหารกำลังพล ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้ เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี ยังไม่รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภายใต้ ที่เราต้องการสร้างหลักการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในประเทศนี้ ดังนั้นคือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพ กว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยการทหาร ซึ่งได้นำวิธีคิดแบบทหารมาลดทอนโอกาส และทางเลือกของสังคมไทย ในการที่จะแสวงหาข้อตกลง แสวงหาจุดบรรจบที่ลงตัวทางการเมือง เพื่ออยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีกรอบความคิดในเรื่องการพินิจพิเคราะห์ว่า ประชาชนเป็นภัยคุกคาม ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ เราจะทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นเหตุผลให้เราเสนอยกเลิก กอ.รมน. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปงานความมั่นคงทั้งหมด

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ในส่วนที่มีคำถามจากการที่เราหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา และพยามผลักดันกฎหมายนั้น ตนเชื่อว่าการถกเถียงจะดำเนินต่อไปได้ในสภาฯ เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด และ กอ.รมน. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกตรวจสอบอย่างหนักจากพรรคก้าวไกล จากการพิจารณากฎหมายในอดีต ปฎิบัติการข่าวสาร ทั้งในระดับชาติ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราพบว่าการพยายามแพร่มลทินของหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. ส่งผลในด้านกลับ ทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นงานการเมืองที่พยายามโน้มน้าวการจัดสรรผลประโยชน์ และจุดมุ่งหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงถูกผูกขาดโดย กอ.รมน. ที่พยายามจัดวางให้ประชาชนผู้ที่อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างเป็นศัตรูกับรัฐได้ หากปล่อยให้หน่วยงาน กอ.รมน. ทำงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้อยู่ ก็จะตัดโอกาสของสังคมไทยในการที่จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และทำให้โอกาสในการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินี้เป็นไปได้ยาก

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการข่าวสาร และปฎิบัติการทางการทหารที่เกี่ยวกับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นประเด็นที่เราเคยถูกอภิปราย เนื่องจาก กอ.รมน. ได้ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ และมีตัวชี้วัดสำคัญในการพยายามเปลี่ยนความคิดของเด็ก อายุหนึ่ง 1-5 ปี แม้กระทั่งเบี้ยเสี่ยงภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. ที่เกี่ยวโยงกับทุกมาตรการด้านความมั่นคง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ที่ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ

“ทั้งหมดนี้เป็นงานการเมือง ที่เราเห็นว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ควรมีหน้าที่ และอำนาจที่จำกัดอยู่เพียงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วเข้ามาในห้องนั่งเล่น เอารั้วเข้ามาในครัว ในห้องนอน หรือในพื้นที่ของพลเรือน” นายรรอมฎอน กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และไม่เคยมีความคิดจะยุบ กอ.รมน.นั้น นายรอมฎอน กล่าวว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกวินิจฉัยและตีความโดยประธานสภาฯ ว่าเป็นร่างว่าด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่ต้องให้ทางนายกรัฐมนตรีให้คำรับรองเพื่อให้มีการอภิปรายต่อในสภาฯ ตนเข้าใจว่าเหตุผลเบื้องหลังของมาตรานี้ เพื่อทำให้ฝ่ายบริหารได้เสียงในการพิจารณา เนื่องจากฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบการบริหารงบประมาณภาครัฐ เพราะฉะนั้น การจะให้คำรับรองหรือไม่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่าที หรือจุดยืนว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับการยุบ กอ.รมน. หรือไม่ เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกรัฐสภาได้ทำหน้าที่ต่อไป ตนเข้าใจว่า ประเด็นนี้แม้กระทั่งในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็อาจจะเห็นต่าง เพราะนายอดิศร เพียงเกษ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลเอง ก็ออกมาแสดงจุดยืนที่แตกต่างไปจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็อาจจะมีคนอื่นๆ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส.จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเห็นว่าประเด็นนี้ได้รับการตอบรับอย่างมาก เป็นเหมือนกับฉันทามติเลยก็ว่าได้ กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. ตนอยากให้ฟังเหตุผลจากคนเหล่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ตนอยากจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองต่อร่างกฏหมายฉบับนี้ และเปิดทางให้สภาฯ ได้มีการพิจารณาต่อไป

“ผมเกรงว่าถ้าท่านตอบไม่ให้คำรับรอง ก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือน ที่ควรจะมีอำนาจเหนือกว่ากองทัพมัวหมองไป เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพลเรือน เพื่อที่จะยืนยันว่า มีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล หรืออำนาจใดๆ ของกลุ่มพลังทางการเมืองใดๆ ก็น่าจะเปิดโอกาสให้สภาฯ ได้ถกเถียงกัน ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัว เพราะการถกเถียงเหล่านั้น เราถกเถียงกันด้วยเหตุผล และอาจจะสู้กันในการโหวต” นายรอมฎอน กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img