วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแก้หนี้ช่วยคนไทยแค่ไหน? พฤติกรรมไม่เปลี่ยนก็วนลูป
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก้หนี้ช่วยคนไทยแค่ไหน? พฤติกรรมไม่เปลี่ยนก็วนลูป

รัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศ “แก้หนี้” ให้คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “หนี้นอกระบบ” หรือ “หนี้ในระบบ” เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นทาสยุคใหม่ ให้คนไทยมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี!!

เบื้องต้น!! รัฐบาลประกาศตัวเลขหนี้นอกระบบไว้ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แม้ว่า ตัวนายกฯจะออกมายอมรับด้วยซ้ำว่า ไม่น่าจะใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะในความจริง!! ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นนอกระบบ ที่อาจล้วง แงะ แก้ไม่ถึงก็เป็นไปได้

ขณะเดียวกัน หนี้ในระบบ!! ที่เป็นที่ หนี้ครัวเรือน ที่รวมหนี้ทุกประเภทเอาไว้ ล่าสุดมีอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ต้องแก้ไขให้ได้มีอยู่ประมาณ 10.3 ล้านคน

วิธีแก้หนี้ ก็มีมากมายสารพัด ทั้งลดดอกเบี้ย ปรับดอกเบี้ย ลดเงินต้น ปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้ และอีกหลากหลายสารพัดวิธี ขึ้นอยู่กับลูกหนี้ เพราะลูกหนี้เองก็มีมากมายหลากหลายกลุ่ม หลากหลายก้อน

ด้วยเหตุนี้… เพื่อให้ง่ายต่อการจัดกระบวนทัพ รัฐบาลจึงต้องแบ่งประเภทลูกหนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้แนวทางการช่วยเหลือนั้นตรงจุด ถูกจุด โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท

ทั้งลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้าง เป็นระยะเวลานาน

ต้องยอมรับว่า “วิกฤติหนี้” ได้กลายเป็นปัญหาสุดคลาสสิกมากๆ สำหรับเศรษฐกิจ และสังคมไทย และที่ผ่านมาเนิ่นนาน ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขวิกฤติหนี้ให้หมดไปได้แบบ 100%

แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นหนี้ ใช่ว่า…จะทำให้ชีวิตของทุกคนตกต่ำ เพราะการเป็นหนี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะการเป็นหนี้ที่ทำให้เกิดทรัพย์สิน

ปัญหาอยู่ที่ว่า การเป็นหนี้ก็ต้องไม่เป็นหนี้ที่เกินตัว จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยิ่งหนักหนาสาหัส เมื่อชักหน้าไม่ถึงหลังหน้ามืด จนต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบเจ้าโน้นทีเจ้านี้ที เพื่อมาโปะหนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

สุดท้าย!! ความหมักหมม กลายเป็น “ดินพอกหางหมู” จนแก้ไม่ได้ แก้ไม่ตก วนลูปกลับมาเหมือนเดิม จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่หนักหนาสาหัส

ในเมื่อรัฐบาลประกาศให้เรื่องการแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ ก็ต้องเดินหน้าให้ต่อเนื่อง หนี้นอกระบบ ก็ประกาศชัดเจนไปแล้ว ให้ฝ่ายปกครองเข้ามาเป็นตัวกลางในการสำรวจ ในการไกล่เกลี่ย ในการลงดาปเจ้าหนี้ที่ระราน

เมื่อไกล่เกลี่ยกันเสร็จ ก็เป็นหน้าที่ของแบงก์รัฐ ซึ่งก้หนีไม่พ้น ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ “ธ.ก.ส.” ที่ต้องเข้าไปรับช่วงต่อ

ขณะที่บรรดาหนี้ในระบบทั้ง 4 กลุ่ม ก็มีแนวทางมีช่องทางที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่า เป็นลูกหนี้รายย่อยที่ได้สินเชื่อฉุกเฉินพิเศษคนละ 10,000 บาท จำนวน 1.1 ล้านราย จะได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย

ส่วนลูกหนี้กว่า 1 แสนรายที่เป็นเอสเอ็มอี จะได้รับการพักหนี้ผ่อนปรนเป็นการชั่วคราว 1 ปี ได้ลดดอกเบี้ย 1% โดยลูกหนี้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต่างเป็นลูกค้าของธนาคารออมสินและธ.ก.ส. อยู่แล้ว

ขณะที่ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ ทั้งข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร จะได้รับการลดดอกเบี้ย และโอนหนี้ไปไว้ที่เดียว เช่นสหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนมาชำระหนี้ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อหักเงินเดือนไปจ่ายหนี้ได้สะดวก ที่สำคัญต้องมีเงินเหลือใช้ 30% ของเงินเดือน ส่วนที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่เป็นหนี้เสีย หากมีบัตรหลายใบหลายธนาคาร ก็เข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ ผ่อนได้นาน 10 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 3-5%

ด้านลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ กยศ. กลุ่มนี้ได้รับพักหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย ลดเงินผ่อนชำระให้ต่ำลง

ขณะที่บรรดาลูกหนี้คงค้างกับธนาคารมานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

แม้ทั้งหมดจะเป็นทางออกให้กับลูกหนี้ได้ แต่ปัญหาก็ตกมาอยู่ที่ธนาคารของรัฐ ที่สำคัญหากลูกหนี้ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ผสมโรงเข้ากับลูกหนี้ดีที่อยากได้รับการดูแลจนเบี้ยวหนี้ ปัญหาคลาสสิกนี้ก็คงไม่จบลงง่าย ๆ กลายเป็นพายเรือในอ่าง แก้ไปแก้มาก็เหมือนเดิม!!

……………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img