วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSปลุกกระแส “สุราชุมชน”... อย่าเป็นไฟไหม้ฟาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลุกกระแส “สุราชุมชน”… อย่าเป็นไฟไหม้ฟาง

หากจะดูผู้เล่นหลักในธุรกิจน้ำเมาของไทยหนีไม่พ้น 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ ถ้าเป็น เบียร์ ก็มี บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หากอ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยตลาดโดย ‘Euromonitor’ พบว่า ในปี 2563 บุญรอดบริวเวอรี่ ครองส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามมาด้วย ไทยเบฟเวอเรจ ครองส่วนแบ่งตลาด 34.3% และบริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ครองส่วนแบ่ง 4.7%

ขณะที่ วงการสุรา ผู้นำตลาดคือ ไทยเบฟเวอเรจ ครองส่วนแบ่งอยู่ 59.5% ตามมาด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ครองอยู่ 8.0% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ครองอยู่ 4.4% และบริษัทอื่น ๆ 28.1%

สาเหตุที่ธุรกิจนี้ผูกขาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยมีกฎที่ค่อนข้างเข้มงวด รวมทั้งได้กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่อยู่ในระดับสูง แม้แต่ในการจัดจำหน่าย กฎหมายก็ห้ามโฆษณา จึงต้องใช้วิธีออก บู๊ธ ตั้งโต๊ะ ครั้นจะชวนลูกค้ามาชิมยังไม่ได้ ต้องรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาเพราะสนใจเอง จึงอาจเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายอื่นๆ

แต่พลันที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงสุราท้องถิ่นที่ชื่อว่า “สังเวียน” ทำให้เกิดกระแสความสนใจและส่งผลให้จำหน่ายหมดเกลี้ยงทั้งโรงงาน สะท้อนว่า สุราท้องถิ่นเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของคนจำนวนไม่น้อย ที่ผ่านมาต้องถูกผลักให้อยู่ในมุมมืด ไม่มีโอกาสโผล่หน้าให้สาธารณชนรับรู้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “สังเวียน” ที่ขายถล่มทลาย แต่กลายเป็นกระแสให้สุราชุมชนอื่นๆ ขายดิบขายดีตามไปด้วย

สุราชุมชนไทยนั้น มีเป็นร้อยๆ แบรนด์ แต่ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็มี สุราชุมชน สังเวียน สุพรรณบุรี, Kilo Spirits กระบี่, อีสานรัม หนองคาย, เหล้าชัยภูมิ ชัยภูมิ, ออนซอน  สกลนคร, ตำนาน ตราด, แก่งเสือเต้น และ ฉาน แพร่, โคโยตี้ลำก้า, หมาใจดำ และไร่ยอดดอย เชียงใหม่, จิน ธารา พุทธมณฑล, ม้าแก้วมังกร อุตรดิตถ์, Saku เขาใหญ่, ป๊าดโธ สาโทร้อยเอ็ด, ซอดแจ้ง อุบลราชธานี, Rocka สระบุรี, คีรีขาล พะเยา, นาสาร สุราษฎร์ธานี, ลุงนิด เชียงราย, Malai Cha Thai สุรินทร์, เต่าเล่า อยุธยา และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ละแบรนด์ล้วนมี “สตอรี่” เรื่องราวที่น่าสนใจ บางแบรนด์โยงไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ก็เป็นผลผลิตจากพืชเกษตรในพื้นที่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย องุ่น มัน มะพร้าว ตาลโตนด และว่านหางจระเข้ เป็นต้น ซึ่งข้าวและผลไม้มีแป้งหรือน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สามารถนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

ในอีกมุมหนึ่ง สุราชุมชน หรือ สุราขาว ไม่ใช่แค่ของมึนเมา แต่ธุรกิจนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เพราะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และยังเกิดการจ้างงานให้คนพื้นที่มีงานทำอีกด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยการเพิ่มมูลค่าผ่านการนำสินค้าเกษตรไปใช้ผลิตสุรา ทำให้เกษตรกรต้นน้ำมีรายได้สูงขึ้น

แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย มีแนวโน้มเติบโตค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้ผู้ผลิตไทยทยอยออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในตลาดส่งออกหลักแทน ทำให้การส่งออกจากแหล่งผลิตในไทยมีความสำคัญน้อยลง ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ปี 2563 มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย 80 แห่ง คิดเป็น 19% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่ง 49% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรงงานขนาดใหญ่ เน้นผลิตสุรา (แอลกอฮอล์ 28 ดีกรี) และเบียร์ โดย 51% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรงงานขนาดกลาง-เล็ก ผลิตสุราขาว สุราพื้นบ้านและไวน์

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย (ข้อมูลปี 2563) เบียร์ มูลค่า 260,000 ล้านบาท, สุรา มูลค่า 180,000 ล้านบาท จะเห็นว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าตลาดสูง แต่มีแค่ 2 ยักษ์ใหญ่ที่กินตลาดนี้ไปเกือบหมด ผู้ผลิตรายย่อยมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก

หากมีการเปิดกว้างให้เสรีมากขึ้น อย่างน้อยๆ จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากมีความคึกคัก เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประกอบกับประเทศไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ยิ่งจะเป็นโอกาสให้ตลาดสุราชุมชน และกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย

ตัวอย่างในกรณีของไทยกับญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่าๆ กันราว 400,000 ล้านบาท/ปี แต่ญี่ปุ่นมีผู้ประกอบการมากกว่า 20,000 ราย ในขณะที่ไทยแบ่งผลประโยชน์กันในผู้ประกอบการเพียง 7 รายใหญ่เท่านั้น จากมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไปสู่รายย่อยเพียงแค่ 10% นั่นหมายถึงเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทในแต่ละปีที่จะไปเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตและมั่นคงได้

แม้ว่าเส้นทาง “สุราเสรี” นั้นยังอยู่อีกยาวไกล และยังมีอุปสรรคขวางหนามขวางกั้น การที่เขย่าบัลลังก์ยักษ์น้ำเมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยปรากกฎการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้กับสุราชุมชนพอมีความหวังขึ้นมาบ้าง

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img