วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“โศกนาฏกรรมกลางตลาดหุ้น” บทเรียนซ้ำซาก!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“โศกนาฏกรรมกลางตลาดหุ้น” บทเรียนซ้ำซาก!!

หากจะพูดถึงเรื่องราว บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในแวดวงตลาดหุ้นไทยขณะนี้ คงต้องย้อนเวลากลับไปหาอดีตตั้งแต่ช่วงปี 2562 ในตอนนั้น STARK เป็นบริษัทมหาชนที่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่เข้ามาในตลาดหุ้นด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม หรือที่เรียกว่า “Back-door Listing” นักลงทุนมักจะบอกว่า วิธีนี้เป็นการเข้าทางประตูหลัง โดยผ่าน บริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SMM  

การนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบ Back-door Listing เพื่อให้บริษัทที่อยู่นอกตลาด กลายมาเป็นบริษัทใหม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แทนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดกฎหมายหรือจริยธรรมแต่อย่างใด ใครๆ ก็ทำกัน ไม่ว่าตลาดหุ้นในเมืองไทย หรือตลาดหุ้นในต่างประเทศ

บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

แรกเริ่มเดิมที STARK เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายสายไฟฟ้า สร้างจุดขายว่า เป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์สายไฟฟ้าระดับโลกอย่าง ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ นอกจากนี้ ยังมีเข้าถือหุ้นบริษัทสายไฟฟ้าชั้นนำต่างๆ จนกลายเป็นบริษัทด้านสายไฟฟ้าติดอันดับโลก ไม่รู้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแผนการสร้างภาพหรือไม่

แต่เรื่องมาแดงจนเกิดเป็นคดีใหญ่โตขึ้นมา กลายเป็นมหากาพย์ เพราะ STARK ได้สร้างภาพบริษัทให้ดูดีมีอนาคต หวังหลอกให้นักลงทุนทั้งนักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ หลงเชื่อไปตามๆ กัน ซึ่งก็ได้ผล นักลงทุนต่างพากันหลงเชื่อจริงๆ

กว่าความจริงจะถูกเปิดเผยออกมาทุกอย่างก็สายเสียแล้ว นักลงทุนรายใหญ่รายย่อย ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทนต่างประเทศ ต้องกลายเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้

ที่สำคัญ…รอบนี้เล่นกันหนักเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท ตัวละครที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ “ผู้ถือหุ้น-กรรมการบริษัท-ผู้ตรวจสอบบัญชี” เรียกว่าทุกองคาพยพ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ในกรณีของ STARK น่าจะเป็นกรณีที่สร้างความเสียหายในตลาดหุ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สร้างภาพตบตาด้วยวิธีการ ตกแต่งบัญชี ทำงบการเงินให้ดูสวยหรู สร้างยอดขายปลอม ปั้นลูกหนี้ปลอม แสร้งทำธุรกรรมว่ามีการซื้อขาย มีการส่งมอบสินค้าจริงๆ ทั้งที่ไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำยังสร้างผลกำไรปลอมติดต่อกันหลายปี ว่ากันว่า งานนี้นักลงทุนรายย่อยนับหมื่นชีวิต ถูกต้มจนเปื่อย ในที่สุดก็บาดเจ็บกันทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารเจ้าหนี้ และกองทุนรวม ที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ไปถึงผู้ถือหน่วยกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนใน STARK จากมูลค่าหุ้นที่เคยสูงสุดถึง 60,000 ล้านบาท ล่าสุดเหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

รวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุดที่เป็นรายย่อยอีกหลายพันราย วงเงิน 9,198 ล้านบาท อีกทั้งความเสียหายของแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้อีกกว่า 8,000 ล้านบาท ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กรณีของSTARK นั้นคือเกมแห่งผลประโยชน์มีความโลภเป็นส่วนผสม ของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร โดยอาศัยวิธีการและเทคนิคทางการบัญชี ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อ

จึงเกิดคำถามต่างๆ ตามมาว่า กระบวนการต่างๆ ในตลาดทุนไทย ทำไมถึงปล่อยให้มีช่องโหว่กันมากขนาดนี้ แม้แต่บริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ถือเป็นสถาบันการเงินที่นำเงินของประชาชนไปลงทุนก็ยังถูกหลอก ที่สำคัญ STARK เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำกับดูแล แถมยังมีบริษัทตรวจสอบระดับ “บิ๊กโฟร์” เป็นผู้สอบบัญชี แต่กลับปล่อยให้เกิดเรื่องจนได้

ทำไมปล่อยให้ผู้บริหารของ STARK ทำการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่กรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชี ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมาก ทั้งที่เรื่องนี้ทำมาตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 มีการสร้างยอดขายปลอม ตกแต่งบัญชี คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 6,025 ล้านบาท นอกจากนี้มีการทำคำสั่งซื้อปลอม และรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า มูลค่า 10,451 ล้านบาท เรียกว่ามีการตกแต่งบัญชีตั้งแต่ก่อนปี 2564 ให้บริษัทมีกำไร หลักพันล้านบาท

แต่จากการปรับแก้งบการเงินล่าสุด ช่วงปี 2564-2565 พบว่า บริษัทขาดทุนรวมกว่า 12,640 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท ยิ่งน่าแปลกใจ “ทำไม” ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำอะไรกันอยู่ จึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำไมไม่ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฎิบัติงานของกลไกทุกส่วน ให้เป็นไปตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

อีกทั้งมาตรการลงโทษค่อนข้างเบาหวิว ถือเป็นแค่ความผิดทางแพ่ง ทำให้คนไม่เกรงกลัว ไม่ว่าคดีจะใหญ่จะเล็ก ไม่มีใครได้รับโทษทางอาญา ถึงตรงนี้เห็นทีผู้มีส่วนรับผิดชอบจะต้องกลับมาพิจาณาเรื่องบทลงโทษกันเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความยำเกรงมากขึ้น

ปรากฏการณ์ STARK กลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางตลาดหุ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ก็เนื่องมาจากการปล่อยปละละเลย บทลงโทษที่เบาหวิว หากไม่เร่งแก้ คงจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และคงต้องจับตาดูว่า ใครจะเป็นรายต่อไป ???

……………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img