วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2024
หน้าแรกHighlightอานิสงส์“ท่องเที่ยว-การบริโภค”ฟื้น!! “EIC”ปรับเพิ่มเป้า“จีดีพี”ปีนี้โต 3.2%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อานิสงส์“ท่องเที่ยว-การบริโภค”ฟื้น!! “EIC”ปรับเพิ่มเป้า“จีดีพี”ปีนี้โต 3.2%

EIC ประกาศปรับเพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.2% จากเดิม 3% รับผลบวกจากการท่องเที่ยว-การบริโภคฟื้นตัว ขณะที่ปีหน้าหั่นเป้าจีดีพีลงเหลือ 3.4% กังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย


ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% จากเดิม 3.0% แรงส่งจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องฟื้นต้น รวมถึงรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น

สำหรับปี 2566 EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็น 3.4% (เดิม 3.7%) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น บางประเทศหลักจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้การส่งออกและการลงทุนของไทยชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนในปีนี้ และจะชะลอลงมากในปีหน้าภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลงช้า วิกฤตพลังงานยืดเยื้อ และนโยบายการเงินเข้มงวดทั่วโลก บางประเทศหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ เช่น สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

ขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.9% และปีหน้าลดจาก 2.7% มาอยู่ที่ 1.8% โดยในกรณีฐาน EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หลายประเทศยังเติบโตได้ เช่น เศรษฐกิจจีนจะฟื้นดีขึ้นตามการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid อย่างไรก็ดี หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจทำให้เกิดกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรง หรือเงินเฟ้อกลับมาเร่งสูงจนทำให้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น

อย่างไรดี เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งขึ้น โดย EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28.3 ล้านคนในปี 2566 จากความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูงและจีนมีแนวโน้มทยอยผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid

อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศเติบโตดีกลับไปใกล้ระดับก่อน COVID-19 ส่งผลให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ยังเปราะบาง สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยลดลงได้ช้าและยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายอยู่ที่ 6.1% และ 3.2% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อเนื่องไปเงินเฟ้อพื้นฐาน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ คาดว่ากนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าสู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดย ธปท. จะประเมินจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ให้มั่นใจว่า Policy normalization ทั้งนโยบายการเงินและมาตรการการเงินที่จะทยอยหมดอายุในปีหน้า จะไม่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วมากจนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง

สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สาเหตุหลักจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ช้าลง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงที่จะปรับดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทจะยังได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทย รวมถึงเงินเฟ้อไทยที่จะลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ EIC จึงประเมินว่า เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36-37 บาท ณ สิ้นปีนี้ และจะทยอยแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาท ณ สิ้นปี 2566

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img