วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกHighlight“เงินบาทแข็ง”นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ กังวลปมขัดแย้งตะวันออกกลาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็ง”นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ กังวลปมขัดแย้งตะวันออกกลาง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาเปิดรับความเสี่ยง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ – การรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเหนือระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.52-35.68 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) สหรัฐฯนั้น ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด

ทั้งนี้เงินบาททยอยพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่ นอกจากนี้การรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเหนือระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีส่วนช่วยพยุงให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงกังวลว่าเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกตามคาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐ กิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่สดใส ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯก็สามารถกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia +1.9% ที่ได้รับอานิสงส์จากรายงานผลประกอบการของผู้ผลิตชิพรายใหญ่ TSMC ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้น Apple +3.3% หลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำการลงทุนเป็น “ซื้อ” ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.88%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.59% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Infineon Tech. +4.8%, ASML +4.1% หลังผลประกอบการของ TSMC ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +2.5% หลัง Richemont +10.4% ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าหรู เช่น Cartier, IWC ได้รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะยอดขายในจีนที่เติบโตได้ดี

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Raphael Bostic) ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟดในปีนี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.15% โดยการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็ชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-103.6 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) จะถูกกดดันจากความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วตามที่ตลาดเคยคาดหวังไว้ ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนแนวรับแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง ส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งนอกเหนือจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้เล่นในตลาดจะจับตาใกล้ชิดว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะกลางจากรายงานดังกล่าวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ส่วนในฝั่งยุโรป เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดไปพอสมควรแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าเงินบาทก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยเรายังคงประเมินโซนแนวรับเงินบาทแถว 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด เรามองว่าการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของทั้ง ECB และ BOE ก็จะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์เช่นกัน ดังที่จะเห็นในวันก่อนหน้าที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูงกว่าคาด ซึ่งในวันนี้เรามองว่า รายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษก็จะมีผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย BOE และอาจกระทบต่อทิศทางเงินปอนด์อังกฤษและเงินดอลลาร์ได้

นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ยังคงส่งผลต่อเงินบาท โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำได้บ้าง (ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท) หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวต้านแถว 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.65 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img