วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกHighlight‘เงินบาทอ่อน’จับตาเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ-เศรษฐกิจจีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เงินบาทอ่อน’จับตาเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ-เศรษฐกิจจีน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ สูงกว่าคาด จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ-เศรษฐกิจจีน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 35.30-35.55 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนสูง ตามที่เราได้ประเมินไว้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งออกมาผสมผสาน (ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls ออกมาสูงกว่าคาด แต่ทว่า อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง กลับออกมาแย่กว่าคาด)

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์มีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯใหญ่ ในธีม AI ที่ปรับตัวได้ร้อนแรงในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หรือขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ในช่วงเงินบาทได้แข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ราว 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย จากทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ออกมาผสมสาน ไม่ได้ดีกว่าคาดไปทั้งหมด

ในสัปดาห์นี้ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI หากออกมาดีกว่าคาด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ สหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยในการแถลงต่อสภาคองเกรสประจำปีนั้น ประธานเฟดอาจย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อและการจ้างงาน ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นได้ เริ่มจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการปรับตัวลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการที่สำรวจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ

นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญของข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็อาจสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลง อาทิ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่อาจลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง ส่วนยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกุมภาพันธ์ อาจเพิ่มขึ้นราว 2 แสนตำแหน่ง ลดลงจากกว่า 3.5 แสนตำแหน่งในเดือนก่อน แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 1 แสนตำแหน่ง ที่ประธานเฟดมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.8% และอัตราการเติบโตค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจชะลอลงสู่ระดับ +4.3%y/y ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาตามคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมั่นใจว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด และหากออกมาแย่กว่าคาด ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด เพราะจะทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาด

▪ ยุโรป – ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00% และอาจยังไม่รีบส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้สำเร็จ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงคาดว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน และอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางนโยบายการเงิน ECB

▪ เอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุม สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) และการประชุมสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันอังคารที่ 5 มีนาคม โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาว่า ทางการจีนจะมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจอย่างไรและจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการโดย Caixin รวมถึงยอดการส่งออกและนำเข้า ในส่วนนโยบายการเงิน เราประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินริงกิต (MYR) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอเข้าสู่เป้าหมายของ BNM และภาพรวมเศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างจากปีก่อนหน้าก็ตาม

▪ ฝั่งไทย – อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือนกุมภาพันธ์อาจอยู่ที่ระดับ -0.70% สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน รวมถึงราคาข้าวและแป้ง ขณะเดียวกันการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ก็จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทยอยปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็อาจอยู่แถวระดับ 0.50% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 63.5 จุด ท่ามกลางความหวังการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออก

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทแกว่งตัว sideways โดยโมเมนตัมการแข็งค่าอาจชะลอลงบ้าง (สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัล) และต้องระวังในกรณีที่ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลง หากเผชิญปัจจัยกดดัน อาทิ ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของตลาดหุ้นไทย ที่มาพร้อมกับการแข็งค่าของเงินบาทได้ และที่สำคัญควรจับตาทิศทางสกุลเงินเอเชีย ทั้งเงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ส่งผลต่อเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้ ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นทำให้เราประเมินว่า โซนแนวรับแรกของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 35.60 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรก (แนวต้านถัดไป 35.80 บาทต่อดอลลาร์)

ส่วนเงินดอลลาร์นั้น จะย่อตัวลงตามคาดในสัปดาห์ก่อนหน้า ทว่าในสัปดาห์นี้ ควรระวังการกลับมาแข็งค่า เร็วและแรงของเงินดอลลาร์ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หรือตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off)

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.50 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img