วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกNEWSแบงก์รัฐคลอดมาตรการอุ้มลูกหนี้น้ำท่วมภาคใต้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แบงก์รัฐคลอดมาตรการอุ้มลูกหนี้น้ำท่วมภาคใต้

“ธ.ก.ส.-ธอส.-ไอแบงก์” จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกะทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้-สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หวังบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าในเบื้องต้น

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร รวมถึงผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยเบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้จัดมาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ

1.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี

2.มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด

3.มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี

2.สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง ธ.ก.ส. จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การมอบเงินสมทบทุนการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่อง ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลใจ ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และสามารถเดินเข้ามาปรึกษา ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน การสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ โดยการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม เป็นต้น

ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ได้ออก “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567” ทั้งหมด7 มาตรการ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%, MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท  ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.30% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3.60% ต่อปี) ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR -2.40% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 4.50% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี

มาตรการที่ 3 สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี) มาตรการที่ 6 สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

ดร. ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร กล่าวว่า ได้ออกมาตรการผ่อนปรนแก่ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังต่อไปนี้

1.พักชำระหนี้เงินต้นและยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถขอพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร ได้นานสูงสุด 6 เดือน โดยธนาคารยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge)

2.สินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษ ลูกค้าบุคคลที่มีสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และลูกค้าธุรกิจที่มีสินเชื่อประเภทมีกำหนดระยะเวลา (Term Financing) ที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการได้รับความเสียหาย หรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจหรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและส่งผลต่อธุรกิจหรือการดำรงชีพของลูกค้า สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยให้ชำระเฉพาะกำไรตามอัตราที่กำหนดในสัญญาปัจจุบัน และสามารถขอขยายระยะเวลาสัญญาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ โดยธนาคารยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่อนุมัติเข้าร่วมมาตรการ

3.ลูกค้าใหม่ประเภทบุคคลธรรมดาและลูกค้าผู้ประกอบการ สำหรับลูกค้าใหม่ประเภทบุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ธนาคารให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคอัตรากำไรพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน และสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกัน (สำหรับลูกค้า MOU) และสำหรับสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารให้อัตรากำไรพิเศษสำหรับสินเชื่อธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา วงเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น

สำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามและยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อของไอแบงก์ทุกสาขา ตั้งแต่บัดนี้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ibank Contact Center โทร. 1302 หรือแชททาง Messenger @ibank.th และ LINE @ibank ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img