วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกHighlightไทยติดอันดับ8โลกผู้ป่วยรุนแรง-วิกฤติ หมอธีระเชื่อยอดตายมีสูงกว่าที่รายงาน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไทยติดอันดับ8โลกผู้ป่วยรุนแรง-วิกฤติ หมอธีระเชื่อยอดตายมีสูงกว่าที่รายงาน

“หมอธีระ” สุดจะทน เห็นภาพคนเข้าคิวตรวจหาเชื้อข้ามวันข้ามคืน แต่ได้ตรวจบางส่วน ซัดนโยบายวัคซีนผิดทิศผิดทาง มาตรการควบคุมป้องกันโรคไร้ประสิทธิภาพ ทำตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง เชื่อยอดคนตายรายวันสูงกว่าที่รายงานแน่ คาดโรคระบาดนี้ยาวไปถึงกลางปีหน้า อีกไม่นานต้อง “ล็อคดาวน์ทั้งประเทศ”

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 10 กรกฎาคม 2564…ไทยเป็นอันดับท็อปเท็นแล้ว มีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ส่วนบราซิลมียอดติดเชื้อสะสมทะลุ 19 ล้าน ในขณะที่แนวโน้มการระบาดของโลกทวีความรุนแรงขึ้น กำลังเข้าสู่ขาขึ้นของการระบาดครั้งใหม่จากเดลต้า ช่วงพีคคาดว่าจะเป็นต้นไตรมาสสุดท้ายของปี, เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 474,083 คน รวมแล้วตอนนี้ 186,801,183 คน ตายเพิ่มอีก 8,027 คน ยอดตายรวม 4,034,563 คน, 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และรัสเซีย, อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 24,250 คน รวม 34,708,061 คน ตายเพิ่ม 349 คน ยอดเสียชีวิตรวม 622,678 คน อัตราตาย 1.8%, อินเดีย ติดเพิ่ม 39,154 คน รวม 30,791,262 คน ตายเพิ่ม 1,165 คน ยอดเสียชีวิตรวม 407,132 คน อัตราตาย 1.3%, บราซิล ติดเพิ่ม 57,713 คน รวม 19,020,499 คน ตายเพิ่มถึง 1,433 คน ยอดเสียชีวิตรวม 531,777 คน อัตราตาย 2.8%, ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,580 คน ยอดรวม 5,803,687 คน ตายเพิ่ม 18 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,302 คน อัตราตาย 1.9%, รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,766 คน รวม 5,733,218 คน ตายเพิ่ม 726 คน ยอดเสียชีวิตรวม 141,501 คน อัตราตาย 2.5%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น, แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน, เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่สาม ทำลายสถิติต่อเนื่อง ล่าสุด 1,316 คน ส่วนเมียนมาร์หนักขึ้น ล่าสุด 4,320 คน และเวียดนามติดเพิ่มถึง 1,625 คน สูงสุดเท่าที่เคยเป็นมาทั้งสามประเทศ, แถบยุโรปกำลังเผชิญการระบาดซ้ำ เช่น เนเธอร์แลนด์ ติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 6,926 คน เป็นขาขึ้นของระลอกที่ 5 อย่างชัดเจน, แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน จอร์เจีย เบลารุส และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน, แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านหยุดไม่อยู่ ติดเพิ่มหลักหมื่น, กัมพูชาติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ

…วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดของไทยเรา แม้ในปัจจุบัน จำนวนติดเชื้อรวมจะอยู่อันดับที่ 62 และจำนวนเสียชีวิตสะสมจะอยู่ที่อันดับที่ 85 แต่จำนวนการติดเชื้อใหม่ของเมื่อวาน เป็นอันดับที่ 14 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และจำนวนการเสียชีวิตของเมื่อวาน เป็นอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับที่ 7 ของเอเชีย นี่เป็นสถิติที่บ่งถึงความวิกฤติของการระบาดในประเทศ ที่กระจายไปทั่วทุกจังหวัด และยังไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากนโยบายและมาตรการด้านการควบคุมป้องกันโรคที่ดำเนินการมาหลายเดือนนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

หากมองด้วยสายตาที่แจ่มชัด คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราเห็นประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคได้ ต้องเข้าคิวกันข้ามคืน แต่ก็ได้ตรวจเพียงบางส่วน แสดงถึงโอกาสที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง จะสูงกว่าที่เห็นในรายงานของรัฐอย่างมาก เพราะเป็นภาพที่เห็นมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ความสะเทือนใจที่เราได้รับรู้รับทราบว่า มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเตียง ต้องรออยู่ที่บ้าน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อสู่สมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่นอนรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้าน จำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและได้รับการ swab ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดในภายหลัง และอีกหลายต่อหลายรายที่ทนไม่ไหว ต้องทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งโดดสะพาน ทั้งผูกคอตาย

ประชาชนรอตรวจโควิด cr : FB Paisal Puechmongkol

ปรากฏการณ์ข้างต้นทำให้เราทราบได้ว่า มีโอกาสสูงที่จำนวนผู้เสียชีวิตจริงจากการติดเชื้อโควิด-19 ย่อมมากกว่ารายงานอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน หลายวันนี้ มีคำถามหลายต่อหลายคำถามที่ถามมา จึงขอสรุปคำตอบในมุมมองของผมมาให้ทราบ และพิจารณาตามที่เห็นสมควร ดังนี้

หนึ่ง วัคซีนนั้นเป็นอาวุธป้องกันที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด ข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ และบทเรียนจากต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า โอกาสในการควบคุมป้องกันโรคระบาดนี้จะมีสูง หากประเทศนั้นใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากการวิจัยทางการแพทย์ระดับสากลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ แบบไม่มีอาการ ลดความรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิต ได้แก่ วัคซีน mRNA (Pfizer/Biontech, Moderna) โดยมีวัคซีนอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงลดหลั่นกันลงมาอีกหลายชนิด ที่ได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน ได้แก่ Johnson&Johnson และ Novavax

สอง การเลือกรับวัคซีน ส่วนตัวแล้วจะเลือกโดยดูข้อมูลเชิงประจักษ์ จากการวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล และมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ตรวจสอบได้ และโปร่งใส แต่ไม่เชื่อสิ่งที่เป็นลมปากจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือข้อมูลการศึกษาที่มีปัญหาด้านระเบียบวิธีวิจัย เช่น ทำในกลุ่มตัวอย่างสองสามคนพอกล้อมแกล้ม

เหตุผลหลักคือ วัคซีนเป็นอาวุธป้องกันที่สำคัญ ที่เราจะต้องรับเข้ามาในร่างกาย จึงมีความเสี่ยงทั้งในเรื่องประสิทธิภาพที่จะป้องกันว่าจะมากน้อยเพียงใด รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ วัคซีนจึงส่งผลโดยตรงต่อชีวิต การเลือกใช้จึงต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ ลดโอกาสผิดพลาด ยิ่งหากนโยบายวัคซีนระดับประเทศ หากผิดทิศผิดทาง จะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคมได้ ดังที่เราเห็นบทเรียนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

แต่สุดท้ายแล้ว หากมีตัวเลือกที่จำกัด ก็ต้องใช้วิจารณญาณตัดสินใจเลือก โดยอาศัยหลักการข้างต้นเช่นกัน และวางแผนในระยะยาว ปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ที่ท่านเชื่อถือควบคู่กับการหาข้อมูลที่ชัดเจนมาประกอบการตัดสินใจ

สาม ศึกโรคระบาดของเรานั้น มีแนวโน้มสูงที่จะยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีใครรู้ว่าจะนานเพียงใด หากให้คาดการณ์ด้วยข้อมูลที่จำกัด คำตอบที่ให้คือไม่น้อยกว่ากลางปีหน้า ด้วยเหตุผลคือ ระบบพื้นฐานของประเทศเรานั้นยังไม่เข้มแข็งพอที่จะกำราบโควิด-19 นี้ได้ ดังจะเห็นได้จากเรื่องศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรค, ทรัพยากรทั้งคนเงินของหยูกยาและเตียงในระบบการดูแลรักษา, ปริมาณและประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีใช้ รวมถึงการกระจาย, นโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การเปิดประเทศ เป็นต้น และเหนืออื่นใดคือ ปัญหาเรื้อรังจากการเลือกใช้นโยบายและมาตรการที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดของโรคได้ตั้งแต่ระลอกสองและระลอกสามในปัจจุบัน ทำให้กลายเป็นแดนดงโรค และทำให้มีการระบาดที่กระจายทั่ว รุนแรง และยังคุมไม่ได้

สิ่งที่คิดว่าดีสุดเท่าที่จะทำได้คือ รับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์ และเตรียมตัวเตรียมใจ ให้มีพลังยืนระยะไปยาวๆ ได้ ยืนระยะโดยประคับประคองตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้างไปด้วยกัน ป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่าให้ติดเชื้อ นี่คือเป้าหมายเล็กๆ ที่สำคัญที่สุด ใส่หน้ากากเสมอหากก้าวเท้าออกจากบ้าน สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า นี่คือหัวใจหลักในการป้องกันครับ เจอคนให้น้อยๆ สั้นๆ อยู่ห่างมากๆ เลี่ยงการใช้สุขาสาธารณะ หากต้องใช้ ให้ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือทุกครั้ง ปิดฝาก่อนกดชักโครก หมั่นถามไถ่ สังเกตอาการของตนเอง และคนในบ้าน หากไม่สบาย ให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน และรีบหาทางไปตรวจรักษา วางแผนการใช้ชีวิต เน้นความประหยัด ระวังเรื่องการกู้หนี้ยืมสินหรือการหลอกลวงด้วยกิเลสจากมิจฉาชีพ ชุมชนแต่ละแห่งจำเป็นต้องลองคุยกัน วางแผนว่าจะช่วยให้คนในพื้นที่ของเราอยู่กันโดยใช้เงินหรือมีค่าใช้จ่ายลดลงได้อย่างไรบ้าง ขอให้เราอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน ด้วยรักและห่วงใย

รศ.นพ.ธีระ ยังโพสต์อีกข้อความว่า…“กราฟการระบาดภาพแรก เห็นชัดว่าไทย (เส้นสีแดง) เผชิญการระบาด 3 ระลอก ระลอกแรก ช่วงกลางมีนาคม 2563 มีติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจเชิงนโยบาย และดำเนินมาตรการได้อย่างทันท่วงที แต่หลังจากระลอกสองตอนปลายปีเป็นต้นมา การตัดสินใจใช้มาตรการที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ทำให้ผลลัพธ์คือมีการติดเชื้อในชุมชนรายงานใหม่ทุกวันตลอดมา และเป็นเชื้อไฟที่ง่ายต่อการปะทุซ้ำ

จึงไม่แปลกใจที่เกิดประกายจากสถานบันเทิงและตลาด ช่วงต้นเมษายน 2564 จนทำให้ลามกระจายไปอย่างรวดเร็ว จากหลักสิบไปหลักร้อยไปหลักพันและกำลังจะหลักหมื่นต่อวัน ภาพภูเขาโต๊ะที่มีภูเขาไฟใหญ่ๆ โผล่ขึ้นมาเป็นระยะ หรือที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าเป็น The Table Mountain with Big Volcanoes จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นในขณะนี้

แต่น่าเสียดายที่เราเห็นแต่เพียงตีนเขาขาขึ้น และภูเขาไฟที่โผล่ขึ้นมา โดยที่ยังไม่เห็นทางลงไปยังตีนเขาอีกข้าง ซึ่งไม่รู้ว่าไกลเพียงใด นี่จึงเป็นบทพิสูจน์แรงกายแรงใจของนักเดินทาง การเลือกไกด์หรือผู้นำทางจึงมีความสำคัญยิ่งนัก ด้วยรักและห่วงใย”

รศ.นพ.ธีระ อธิบายด้วยว่า “คาดว่าจะเข้าสู่หนทางที่เหมือนบทเรียนจากหลายประเทศ หนีไม่พ้น Full National Lockdown จะช้าหรือเร็ว คงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ ระบบตรวจคัดกรองโรค จะตรวจได้มากกว่าเดิมหรือไม่ ครอบคลุมไหม และทำได้ต่อเนื่องเพียงใด หากไม่ทันต่อการระบาด ก็ยากที่จะจัดการการระบาดได้ ตัวชี้วัดโดยตรงสำหรับการตัดสินใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิต แต่ส่วนตัวแล้ว ตัวชี้วัดโดยอ้อมอีก 2 ตัวที่จะนำมาพิจารณาคือ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ และจำนวนโรงพยาบาลที่ต้องปิดบริการจากการระบาดภายในโรงพยาบาล เอาใจช่วยทุกคนครับ”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img