วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2024
หน้าแรกNEWS"ชวน' นัดประชุมสภาฯทิ้งทวน 27-28 ก.พ ถก "กม.อุ้มหาย" หลังเพิ่งรับแจ้งจากรัฐบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ชวน’ นัดประชุมสภาฯทิ้งทวน 27-28 ก.พ ถก “กม.อุ้มหาย” หลังเพิ่งรับแจ้งจากรัฐบาล

“ชวน’ แจงเลื่อนอ่านพ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาฯ เร่งหารือ “ฝ่ายค้าน-รัฐบาล” นัดประชุมสัปดาห์หน้า หลังเพิ่งรับแจ้งจากรัฐบาลให้ถก “กม.อุ้มหาย” คาดนัด 27-28 ก.พ.ต่อ

วันที่ 23 ก.พ.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4

ต่อมาเวลา 18.20 น. ระหว่างที่สมาชิกกำลังอภิปรายเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ พิจารณาเสร็จแล้ว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้สอบถามถึงความชัดเจนว่าจะมีการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์หน้าหรือไม่

นายชวน ชี้แจงว่า เมื่อประมาณเวลา 16.15 น. มีหนังสือมาจากสำนักนายกรัฐมนตรีส่งมายังสภาฯ และมาถึงตนเมื่อประมาณ 18.00 น. เรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ความว่า เรียน สภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ส่งมาด้วยพระราชกำหนดในเรื่องนี้ ด้วยได้มีประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 เป็นกฎหมายแล้ว ดังที่ได้ส่งมาพร้อมด้วยนี้ จึงขอเสนอพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว มาเพื่อขอให้สภาฯ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ลงชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายชวน กล่าวว่า สภาฯ เราปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.ดังนั้นเรายังมีเวลา 5 วัน ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เมื่อเรารับเรื่องมา จึงจำเป็นต้องมีการประชุมสภาฯ ถ้าอยู่นอกฤดูกาล รัฐบาลต้องดำเนินการให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่เมื่อส่งเรื่องมาในวันนี้ (23 ก.พ.) จึงอยู่ในเวลาที่เราต้องรับผิดชอบ ตนจึงคิดว่าจะประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อดูวันที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะจัดประชุมได้ในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.พ.แต่ถ้าเห็นเหมาะสมอย่างไร ตนจะเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ว่าทุกฝ่ายจะพร้อมวันไหน ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่จบและคงต้องเลื่อนการอ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมไปก่อน แต่จะประสานพวกเราอีกครั้งหนึ่ง

“ถ้ารัฐบาลส่งมาอาทิตย์หน้า หรือต่อให้ส่งมาในวันจันทร์ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการส่งระเบียบวาระต้องส่งล่วงหน้า 3 วัน แต่เมื่อส่งมาแบบนี้ก็เหมือนกับโยนมาให้เราต้องรับแก้ปัญหา แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเรา เราก็ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ จนนาทีสุดท้าย” นายชวน กล่าว

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หลังจากที่นายชวน ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ทำให้ส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หยิบยกเรื่องนี้มาหาหรือกันอย่างเคร่งเครียดเนื่องจากว่าการต้องนัดประชุมเพิ่มเติม โดยประธานสภาฯ ต้องนัดประชุมอย่างไม่ชักช้า ว่าสภาฯ จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ จึงมีแนวทาง 3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะประชุมกันในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดนี้ ไปตามปกติของข้อบังคับการประชุมสภาฯ หากสภาฯ อนุมัติพระราชกำหนด ก็จะต้องส่งไปให้วุฒิสภาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้าอนุมัติพระราชกำหนดนี้ จะทำให้นายกฯ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนกรณีไม่อนุมัติก็ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยกเว้นจะต้องเป็นไปในแนวทางที่ 2 คือ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาฯ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานที่ตัวเองเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง คือพระราชกำหนดนั้นไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินอันนี้ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อส่งให้ประธานฯ ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็น เพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือรอไป 60 วันตั้งแต่วันรับเรื่องจนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมมนูญแจ้งไปยังประธานฯ ที่ส่งเรื่องนั้นมาให้ทราบว่าพระราชกำหนดนั้น เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่ 3 คือ หากสภาฯ ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน จนมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ถ้ามีความจำ เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสมาชิกสภาฯ จำนวน 1 ใน 10 ของสามาชิกเท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดนี้ แต่ขณะนี้คาดว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ 2 เพราะอยู่ในสมัยประชุม จึงสามารถนัดประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img