วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2024
หน้าแรกHighlightเปิดรายละเอียดร่างกม.คุ้มครองเสรีภาพประชาชน 5 ฉบับของพรรคก้าวไกล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดรายละเอียดร่างกม.คุ้มครองเสรีภาพประชาชน 5 ฉบับของพรรคก้าวไกล

”ก้าวไกล”เสนอร่างกม.คุ้มครองเสรีภาพประชาชน  5 ฉบับ ยกกรณีศาลไม่ประกันตัว 4 แกนน้ำคณะราษฎรเป็นเคสตัวอย่าง ย้ำสถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมือง

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า วันนี้ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกับเพื่อนส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งพวกเราได้อภิปรายถกเถียงกันภายในพรรค มีการหารือ และมีทีมงานร่วมจัดทำร่างกฎหมายชุดนี้ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

พรรคก้าวไกล มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งหลักการที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ก็คือการทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทาและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ของสาธารณชน ซึ่งหนทางเดียวที่พวกเราจะทำเช่นนั้นได้ ก็คือการดึงสถาบันให้พ้นออกจากการเมือง

พวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันป้องกันมิให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง เข้ามาฉกฉวยโอกาสหยิบยก แอบอิง หรือแอบอ้าง ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อนำมาใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปาก

พี่น้องประชาชนครับ เมื่อวานนี้ อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 2 คดีจากการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน และ14 พฤศจิกายน 2563 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากนั้นศาลอาญาก็มีคำสั่งไม่อนุญาติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยศาลเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก

นั่นหมายความว่า จำเลยทั้ง 4 คน อาจถูกจองจำอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งๆ ที่ความผิดที่พวกเขาถูกกล่าวหานั้น เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการแสดงออกของพวกเขา รวมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่จำเลยคดี 112 ก็ควรมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในแง่ตัวบทและการบังคับใช้ ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

เหตุการณ์เมื่อวานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเพิ่งแสดงความกังวลต่อการใช้ ม.112 ในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรง โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินจำคุกอดีตข้าราชการสตรีวัย 60 ปี สูงถึง 87 ปี แม้จะลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นการลงโทษรุนแรง ไม่ได้สัดส่วนต่อความผิดจากการโพสต์คลิปที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในเฟสบุ๊ก

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ย้ำว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้การแสดงออกบางรูปแบบอาจถือเป็นการดูหมิ่น แต่ก็ไม่ถือเป็นเหตุผลที่จะลงโทษอย่างรุนแรง เขายังเรียกร้องต่อทางการไทยให้ทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112, ให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหานี้, และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ

พี่น้องประชาชนครับ พรรคก้าวไกลขอย้ำว่าการจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับ หรือใช้กฎหมายปราบปราม สถาบันการเมืองใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ย่อมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความชอบธรรมและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนดังนั้น หนทางที่พวกเราควรทำก่อนจะสายเกินการณ์ ก็คือ การแสวงหากุศโลบายที่สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนภายใต้ระบบนิติรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมือง–“ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้ว ในหลายปีที่ผ่านมา เรายังมีปัญหาการใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอีก ในโอกาสนี้ พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

(1) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาลครับ รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

(2) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

(3) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยทั้งสองฉบับนี้เป็นการสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง “คดีปิดปาก” โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) laws

(5) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลอาญาอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img