หลายคนอาจจะสงสัยว่า อะไรที่ทำให้ประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกถึง 2 ครั้ง พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศมาอยู่แถวหน้าของยุโรปและของโลกได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่อาจจะรู้ว่า ประเทศเยอรมัน เป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฉะนั้นความสำเร็จของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 20 น่าจะเป็นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างเช่น โฟล๊ค สวาเกน, เมอร์ซิเดสเบนซ์ หรือ ซีเมนต์ ที่คนไทยคุ้นเคย
ทีเกริ่นเรื่องเศรษฐกิจเยอรมัน พอดีช่วงนี้อยู่ระหว่างเดินทางมาทำภารกิจส่วนตัวที่ประเทศนี้ จึงถือโอกาสนำเรื่องราวด้านเศรษฐกิจบางแง่มุมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของยุโรปและเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่บางคนอาจจะคิดไม่ถึง มาเล่าสู่กันฟัง เปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องราวเศรษฐกิจไทยบ้าง
ต้องบอกว่า ธุรกิจที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันแข็งแกร่งจริงๆ ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราเข้าใจเท่านั้น แต่กลับเป็น กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือที่บ้านเราเรียกว่า ธุรกิจ SME ซึ่งคนเยอรมันรู้จักกันในนามของ “มิตเทลสแตนด์ (Mittelstand)” คือส่วนที่เป็นกระดูกสันหลังและมีความสำคัญหรือจุดแข็งของเศรษฐกิจเยอรมันอย่างแท้จริง
ธุรกิจ SME คือ จิตวิญญาณและเป็นหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของเศรษฐกิจเยอรมนี ที่ทำให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เมื่อเผชิญกับวิกฤติต่างๆ ก็สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
หากจะหานิยามของ ธุรกิจ SME ถ้านิยามจากขนาดของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะมีพนักงานต่ำกว่า 500 คน และยอดขายปีหนึ่ง 50 ล้านยูโร ปัจจุบันมีสัดส่วน 37% หรือ 1 ใน 3 ของยอดขายธุรกิจอุตสาหกรรมของเยอรมันทั้งหมด มีสัดส่วนการจ้างงาน 60% และเป็นสถานที่แหล่งฝึกงาน 83% ของแรงงานใหม่ๆ บริษัทธุรกิจราวๆ 95% จัดอยู่ในประเภทธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ที่จ้างงานคนน้อยกว่า 500 คน
นอกจากจะนิยาม ธุรกิจ SME จากเรื่อง ขนาดธุรกิจ แล้ว ยังจะนิยามในเรื่องของ ค่านิยมองค์กร กลยุทธ์ธุรกิจ การดำเนินงาน ธรรมมาภิบาล การฝึกฝนทักษะพนักงาน และทิศทางอนาคตขององค์กร เป็นต้น ธุรกิจดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมภายในครอบครัว ทั้งในความหมายการเป็นเจ้าของและการบริหารงาน การขยายตัวก็อาศัยเงินทุนของตัวเอง หรือสถาบันการเงินในท้องถิ่น ทำให้การดำเนินงานมีความเป็นอิสระและมีความยืดหยุ่น
ฉะนั้น สิ่งที่เป็นจุดแข็งอีกอย่างในการดำเนินธุรกิจของธุรกิจ SME เยอรมัน คือ วัฒนธรรมครอบครัว นั่นเอง แต่ที่น่าสนใจ ธุรกิจ SME ของเยอรมันกระจายอยู่ในเมืองตามชนบท จึงทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่าง ผู้บริหาร กับ พนักงาน ซึ่งธุรกิจ SME ก็ต้องการพนักงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ส่วนพนักงานต้องการการจ้างงานจากบริษัท แม้จะตั้งอยู่ในเมืองชนบท โดยทำการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ที่คนทั่วไปมักไม่เคยได้ยินมาก่อน
แต่ทว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตจะมีความพิเศษ หรือ จะมีลักษณะเฉพาะ และ เป็นส่วนสำคัญของสินค้า เช่น ตัวสกรูหรือตะปูเกลียว ที่ใช้กับเครื่องบินหรือรถยนต์ หรือ ธุรกิจ SME อย่าง Herrenknecht ทั้งๆ ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเจาะภูเขาชั้นนำของโลก แต่ไม่ได้มีสำนักงานอยู่ในเมืองใหญ่ๆ กลับไปตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ในรัฐ Baden-Württemberg
จุดเด่นอีกอย่างของ ธุรกิจ SME เยอรมันอยู่ตรงที่บริษัทเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น การดำเนินงานจึงทุ่มเทไปที่เป้าหมายระยะยาว เช่น ความมั่นคง การอยู่รอดทางธุรกิจ และการสร้างคุณประโยชน์แก่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
แม้จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ กลยุทธ์ธุรกิจของธุรกิจ SME จะให้ความสำคัญในเรื่องของขีดความสามารถทางการแข่งขัน ที่เกี่ยวกับคุณภาพผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิต ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว รวมถึงการทุ่มเทความสามารถด้านอุตสาหกรรมให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับ “ตลาดเฉพาะ” หรือ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดทั่วๆ ไป ทำให้ธุรกิจ SME ของเยอรมนีมีความได้เปรียบหลายอย่าง
เหนือสิ่งใด การใช้กลยุทธ์สร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดจากธรรมเนียมธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของ ธุรกิจ SME ที่ธุรกิจคู่แข่งไม่สามารถจะเลียนแบบได้ง่ายๆ เช่น ดินสอของบริษัท เฟเบอร์-คาสเทล ที่มีกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1761 จะมีประวัติของผลิตภัณฑ์ที่ศิลปินอย่าง วินเซ็นต์ แวน โก๊ะ ก็เคยเป็นลูกค้ามาก่อน
ที่สำคัญ การดูแลพัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษาแบบระบบฝึกงานของเยอรมนี ที่รวมการศึกษาแบบอาชีวะกับการฝึกงานตามบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกัน เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจ SME ทำให้สามารถเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะฝีมือ พัฒนาต่อยอดให้แรงงานที่มีทักษะพื้นฐานมีทักษะสูงขึ้นไปอีก และชักจูงนักศึกษาฝึกงานที่มีศักยภาพให้มาร่วมงานกับบริษัท การเป็นวิสาหกิจแบบครอบครัว ยิ่งทำให้พนักงานมีความมุ่งมั่นผูกพันเหมือนกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวธุรกิจเลยทีเดียว
แต่เคล็ดลับความสำเร็จจะที่อดกล่าวถึงไม่ได้และเป็นจุดเด่นต่างจาก SME บ้านเรา นั่นคือ การผลิตเพื่อมุ่งส่งออก ธุรกิจ SME เยอรมันต้องมุ่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ความสำเร็จจากการส่งออกมีลักษณะคล้ายบริษัทข้ามชาติที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” จะทำการตลาดในเชิงรุก พยายามค้นหาลูกค้าที่อยู่นอกเยอรมนีและสหภาพยุโรป
ในการที่ธุรกิจ SME ของเยอรมันจะได้ลูกค้าต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากผู้บริหารที่ตัดสินใจจะออกไปหาลู่ทางโอกาสในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งมีความกล้าหาญพอที่จะบุกไปยังตลาดที่ตัวเองไม่คุ้นเคยหรือรู้จักมาก่อน เป็นการสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเยอรมันได้อย่างดี
จึงไม่แปลกใจ สินค้าที่ผลิตโดยธุรกิจ SME ครองตลาดโลกมากถึง 70-90% การได้เปรียบดุลการค้าของเยอรมัน ส่วนมากมาจากการส่งออกของพวกบริษัทเหล่านี้นั่นเอง ไม่ใช่จากธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทใหญ่อย่างที่หลายคนเข้าใจ
เคยมีรายงานการศึกษาระบุว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเยอรมัน มาจากธุรกิจ SME มีจ้างงาน 60% ของแรงงาน และมีสัดส่วน 99% ของภาคเอกชน
ธุรกิจ SME จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเยอรมนี อย่างมิอาจปฏิเสธได้
…………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)