วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทจ่อหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์รับดอลลาร์แข็ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทจ่อหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์รับดอลลาร์แข็ง

เงินบาทเปิดตลาด 33.77 บาทต่อดอลลาร์ มองแนวโน้มอ่อนค่ามีโอกาสทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง จับตาฟันด์โฟลว์หลังต่างชาติขายสินทรัพย์ไทย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มของค่าเงินบาทมีความเสี่ยงอ่อนค่าต่อ และอาจทดสอบแนวต้านสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ พร้อมการปรับตัวลงของราคาทองคำ

ทั้งนี้ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งสร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ (ราคาพลังงานสูง กดดันดุลการค้า เนื่องจากประเทศไทย เป็น Net Importer พลังงาน)

อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ เรามองว่า ในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าใกล้ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ หากฝั่งผู้ส่งออกมีการปรับมุมมองต่อเงินบาท อาทิ ผู้ส่งออกไม่เร่งรีบขายเงินดอลลาร์และมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังปรับตัวอ่อนค่าทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรามองว่า โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นจุดที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Long USDTHB ( ตั้งแต่การพลิกกลับมาอ่อนค่าเหนือระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์) ใช้เป็นจุดในการทยอยขายทำกำไรหรือปิดสถานะ Long USDTHB บางส่วนได้ ซึ่งการปรับสถานะดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดเริ่มมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 5.25% ซึ่งต้องรอลุ้นภาพอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะในส่วนอัตราเงินเฟ้อจากภาคการบริการ อนึ่ง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกชะลอลงได้บ้าง หากตลาดยังคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจากทั้ง BOE และ ECB เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ กรอบ 33.65-33.85 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25%)

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวัง ความเสี่ยงตลาดปรับมุมมอง (Repricing) แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด, BOE และ ECB

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้ โดยในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงขยายตัวไม่น้อยกว่า +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็นระดับ 6.4% และ 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ)

ตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลง (ตามที่ประธานเฟดได้ระบุในการประชุมเฟดและในสัปดาห์ก่อนหน้า) แต่ก็อาจไม่ได้ชะลอเร็วนัก โดยเฉพาะหากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการชะลอตัวช้า

ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.25% ซึ่งตลาดมองไว้ล่าสุด (จาก CME FedWatch Tool ตลาดประเมิน เฟดมีโอกาสราว 38% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50% เพิ่มขึ้นจากโอกาสเพียง 5% ที่ตลาดมองในช่วง 1 เดือนก่อนหน้า)

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการรวมถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ต่อเนื่องได้

ขณะที่ยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 10.2%

อย่างไรก็ดี แม้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มชะลอลง ทว่า หากรายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว โดยเฉพาะ ค่าจ้างยังคงขยายตัวกว่า +6.5% ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวเพียง +1.9%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตพลังงานที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐในหลายประเทศก็ช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ เจ้าหน้าที่ ECB อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB

ส่วนเอเชียตลาดคาดว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังการเปิดประเทศ ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวราว +1.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี (q/q annualized)

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอลงในช่วงต้นปี 2023 ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกดดันยอดการส่งออกและภาคการผลิต นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นก็อาจกระทบการบริโภคของครัวเรือนได้ ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 9%

ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% หลังค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) กลับมาแข็งค่าขึ้น อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมาย 2%-4% ของ BI ได้ในปีนี้

สำหรับไทยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า อาจขยายตัวราว +3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img