วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlightแบงก์ขายหนี้เสีย 3 ปีครึ่ง 2.87 แสนล้าน หนี้รถยนต์พุ่งกระฉูด-ชงตั้ง“สถานีแก้หนี้”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แบงก์ขายหนี้เสีย 3 ปีครึ่ง 2.87 แสนล้าน หนี้รถยนต์พุ่งกระฉูด-ชงตั้ง“สถานีแก้หนี้”

“เครดิตบูโร” เผย 3 ปีครึ่งแบงก์เร่ขายหนี้กว่า 2.87 แสนล้านบาท หนี้รถยนต์กระฉูด เสนอตั้งสถานีแก้หนี้ 35 จังหวัด เจรจาเคลียร์หนี้ ควบคู่เร่งปรับโครงสร้างหนี้ 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ปี 63 จนถึงเดือนมิ.ย.66 ธนาคารได้ขายโอนหนี้ไปแล้วกว่า 2.87 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มขายหนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ แค่ครึ่งปี 66 ธนาคารได้ขายหนี้ไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท จากปี 65 กว่า 1 แสนล้านบาท เห็นการขายหนี้เพิ่มขึ้นและมีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ค่อนข้างมาก เพื่อให้ธนาคารเบาตัว โดยการขายหนี้รถยนต์แค่ครึ่งปี 66 มีการขาย 7,806 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 65 ที่ขายหนี้รถยนต์ไป 7,182 ล้านบาท รวมทั้งหนี้อื่นๆ เช่น เช่าซื้อจักรยานยนต์ เช่าซื้อเครื่องจักร หนี้ธุรกิจ ขายหนี้ไปกว่า 2.79 หมื่นล้านบาท มากกว่าทั้งปี 65 ที่ขายไปกว่า 2.67 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ เครดิตบูโร ยังเสนอให้ภาครัฐตั้งสถานีแก้หนี้ใน 35 จังหวัดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์มีพื้นที่ทำเลที่ลูกหนี้สามารถเดินทางได้สะดวก โดยอาจใช้พื้นที่ของหน่วยงานราชการ , สภาอุตสาหกรรมฯ , สภาหอการค้า , สภาเอสเอ็มอี หรืออาจเป็นธนาคาร ซึ่งอาจให้ลูกหนี้ลงทะเบียนและส่งเอกสารหนี้ต่างๆให้พร้อมผ่านระบบออนไลน์ เช่น ทางด่วนแก้หนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลักการคือให้ลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้เจรจาตกลงกัน และมีข้อมูลตารางการผ่อนหนี้ไปเจรจากันโดยมีตัวกลางร่วมด้วย เพื่อหาทางออกหนี้ร่วมกัน

“กว่าจะตั้งรัฐบาลได้คาดว่าในเดือนก.ย. และกว่าจะมีนโยบายกระตุ้นอาจไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้มองว่าตัวเลขหนี้ในไตรมาส 3 ไม่มีทางที่จะดีขึ้น เพราะแบงก์รัฐที่ต้องดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่กว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องรอมีคณะรัฐมนตรีในไตรมาส 4 ซึ่งจะมีผลออกมาในไตรมาสแรกปี 67 โดยตอนนี้ห่วงหนี้รถยนต์มากที่สุด และถ้าดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นก็เป็นห่วงหนี้บ้านที่จะถูกกระทบมากที่สุด”

ขณะเดียวกันอยากเห็นการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้เกิน 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างหนี้แล้วลูกหนี้รอดพ้นได้มี 60% แต่ในอีก 40% ต้องกลับมาปรับโครงสร้างใหม่ บางรายต้องปรับมากถึง 2-3 ครั้ง ปรับจนกว่าจะปรับไม่ไหว เชื่อว่าสิ้นปีนี้จะมียอดการปรับโครงสร้างหนี้เกิน 1 ล้านล้านบาทไม่ยาก เพราะธนาคารจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้หลังจะสิ้นสุดมาตรการในปีนี้

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องการลดให้เหลือ 80% ต่อจีดีพี จะต้องทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่ม รายได้เพิ่ม และต้องควบคู่กับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด หรือรหัส 21 เป็นกลุ่มที่ต้องลดภาระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้โดยใส่เงินใหม่ เติมเงินใหม่เข้าไป โดยคาดหวังว่าลูกหนี้รหัส 21 จะเหลือ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ จากปัจจุบัน 3.7 แสนล้านบาท หรือจะมี 2.7 แสนล้านบาทที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้และรอดพ้น

สำหรับสมาชิกเครดิตบูโร 134 แห่ง ได้มีลูกหนี้เข้ามายื่นตรวจเครดิตบูโรก่อนขอกู้ใหม่ ยื่น 45.93 ล้านคน โดย 6 เดือนปีนี้ ยื่น 19.65 ล้านคน ซึ่งน้อยลงเพราะธนาคารได้สแกนตรวจสอบคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก เช่น รายได้ พบว่าไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นแรกจึงไม่ได้มาขอตรวจเครดิตบูโร เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้เดิมต้องตรวจมากขึ้น เนื่องจากจะต้องดูว่าลูกหนี้คนไหนเป็นลูกหนี้เรื้อรัง ดูการขายหนี้ ดูการชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ จะดูลูกค้าเข้มข้นขึ้น ต้องดูว่าลูกหนี้ที่กู้ไปแล้ว การจ่ายหรือการชำระหนี้สะดุดหรือไม่ โดย 6 เดือนแรกธนาคารได้ตรวจลูกหนี้รายเดิม 35.62 ล้านคนเพื่อบริหารความเสี่ยง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img