วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทอ่อน! ดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯพุ่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทอ่อน! ดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯพุ่ง

เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง ขณะที่สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสยังคงร้อนแรง จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดคืนนี้

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.23-36.41 าทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังคงร้อนแรง ซึ่งหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะเดียวกันความกังวลผลกระทบจากสงคราม รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจอยู่ในระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ก็ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความเสี่ยงสงคราม

ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.34% ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้ง 1.สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น 2. ความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการบริษัทผู้ผลิตชิพ อาทิ Nvidia หลังทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนระงับการส่งออกชิพ ไปยังจีน และ 3. ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส และผลกระทบจากภาวะสงครามที่อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น กระทบต่อแนวโน้มการชะลอลงของเงินเฟ้อ

ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -1.05% ท่ามกลางความกังวลต่อพัฒนาการของสถานการณ์สงคราม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ในกลุ่ม Semiconductor อย่าง ASML -3.4% ทั้งนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP +0.5% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นตามความกังวลสถานการณ์สงคราม

ขณะที่ตลาดบอนด์รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ยังคงออกมาสดใส รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์สงครามบานปลาย จนอาจกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด ซึ่งแม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.90% ได้

ทั้งนี้ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ไม่ได้ผิดไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 106.5 จุด (กรอบ 106.1-106.7 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงคราม

ส่วนราคาทองคำ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้ แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงครามเช่นกัน ทำให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell (ในช่วงเวลา 23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) หลังล่าสุดภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงมาก ขณะเดียวกัน ปัจจัยสงครามก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอยากจับตาว่า ท่าทีของประธานเฟดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน จากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ซึ่งความกังวลดังกล่าว ได้ส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นพอสมควร

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นตามความเสี่ยงภาวะสงคราม ทั้งนี้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความผันผวนสูง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาท สามารถผันผวนอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายสินทรัพย์ไทย

ส่วนแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่ valuation ก็ไม่แพง และเป็นโซนแนวรับสำคัญในเชิงเทคนิคัล ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปมากนัก (คาดว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มให้น้ำหนักเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม หรือ การประชุมในช่วงต้นปีหน้ามากขึ้น และมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง -50bps ในปีหน้า ซึ่งหากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img