วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาทอ่อน จับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ BOE-ECB คืนนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทอ่อน จับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ BOE-ECB คืนนี้

เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังนักลงทุนเข้าซื้อทองคำ-ราคาน้ำมัน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แกว่งไซด์เวย์ เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ จับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ BOE-ECB คืนนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.07-35.29 บาทต่อดอลลาร์) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากโซนแนวรับ

ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ โดยรวมยังคงแกว่งตัว sideway เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่เป็นที่ต้องการของผู้เล่นในตลาดมากนัก

ส่วนหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (The Magnificent Seven) ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Nvidia +2.3%, Microsoft +2.1% ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia อาจออกมาสดใส ส่วนหุ้น Microsoft ก็ได้รับอานิสงส์จากข่าวการเข้ามาร่วมงานทีม AI ของ Sam Altman อดีต CEO ของ OpenAI ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯขนาดใหญ่ ได้หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.13% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.74%

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย +0.10% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies +1.9%, Shell +1.3% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน (เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ) ทำให้โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.45% อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อาจมีจังหวะผันผวนปรับตัวขึ้นได้บ้าง จนกว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น และลึกขึ้นกว่าคาด ถึงจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อได้

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับล่าสุดแถว 148.4 เยนต่อดอลลาร์ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ทำโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.3-103.7 จุด)

ส่วนราคาทองคำ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ก็มีส่วนทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค.) มีจังหวะย่อตัวลงสู่โซนแนวรับแถว 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง 23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า และอาจเริ่มการลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า

นอกจากนี้จะต้องรอดูรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Nvidia (รับรู้ในช่วงหลังตลาดปิดทำการ) รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ราว 02.00 น. ของวันพุธนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นอาจชะลอลงได้บ้าง และเงินบาทก็มีโอกาสแกว่งตัว sideway ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ทั้ง BOE และ ECB รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้บ้าง

นอกจากนี้ควรระวังความผันผวนในตลาด หลังผู้เล่นในตลาดรับรู้ผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมได้ โดยหากผลประกอบการออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ หุ้น Nvidia รวมถึงหุ้นเทคฯใหญ่อื่นๆ อาจปรับตัวลงหนัก ก็อาจทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง

สำหรับโซนแนวรับ-แนวต้านนั้น เรายังคงประเมินว่า โซนแนวรับหลักของเงินบาทยังคงเป็นโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่แนวต้านสำคัญ อาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ

ในช่วงนี้ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img