วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกHighlightเผยคนไทยเป็น“โรคอ้วน”พุ่งสูงขึ้น ชี้เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เผยคนไทยเป็น“โรคอ้วน”พุ่งสูงขึ้น ชี้เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์

คนไทยเป็น “โรคอ้วน” แนวโน้มพุ่งสูงขึ้น คนกรุงเทพฯ ความชุกภาวะอ้วนมากสุด ห่วงเด็กไทยอ้วนเสี่ยงโรค NCDs 4 เท่า ชี้เด็กอ้วนสะท้อนสังคมไทยเหลื่อมล้ำ ฐานะไม่ดีเข้าถึงอาหารสุขภาพยาก ชวนร่วมลงมือแก้ไขใน “วันอ้วนโลก”

วันที่ 3 มี.ค.65  กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา เรื่อง วันอ้วนโลก: ทุกคนต้องลงมือแก้ไข เนื่องจากวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปีในวันอ้วนโลก ซึ่งปีนี้ใช้แคมเปญว่า “World Obesity Day: Everybody Needs to Act”

ศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ กรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ใน พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะอ้วนและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 8.8 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2562 ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564

ซึ่งในกลุ่มนี้ตั้งเป้าภายในอีก 3 ปี ต้องลดภาวะเด็กอ้วนไม่เกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ เด็กอายุ 10-14 ปี ที่มีภาวะอ้วนร้อยละ 8 มีความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโรคอ้วนในเด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายในกรณีที่มีน้ำหนักมาก ทำให้ข้อผิดปกติ เช่น ขาโก่ง ขากาง การเคลื่อนไหวช้า คุณภาพการนอนไม่ดี เกิดภาวะนอนกรนจนหยุดหายใจ ปัญหาด้านพัฒนาการ ระบบการหายใจ หัวใจ และโรคภัยที่จะตามมาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเด็กที่อ้วน จะมีเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าในปกติถึง 4 เท่าตัว

ศ.พญ.ลัดดา กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาต้องควบคุมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย มีพัฒนาการตามวัย สำหรับอาหารที่แนะนำหากเป็นทารก นมแม่ดีที่สุด เพราะช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานร้อยละ 35 และลดเสี่ยงโรคอ้วนร้อยละ 13 ส่วนเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติ ดื่มน้ำสะอาด นมจืด ไม่สอนให้กินน้ำอัดลม และสามารถฝึกกินผักให้เป็นนิสัยโดยเริ่มจากครอบครัวต่อเนื่องไปยังโรงเรียน อาหารจะต้องไม่หวาน มัน เค็มจัด หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด หรือน้ำอัดลม ซึ่ง สสส. และหน่วยงานต่างๆ หากลไกเครื่องมือในการช่วยพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น เลือกสัญลักษณ์โภชนาการอาหารทางเลือก (Healthier choice) เครื่องมือใช้ช่วยตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียม และไขมัน และแอปพลิเคชัน Food Choice ตัวช่วยของพ่อแม่ในการดูแลอาหารขนมของเด็ก

 ขณะที่ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อาจารย์ประจำหน่วยโภชนศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า อุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.2 และอ้วนลงพุง ร้อยละ 39.4 ขณะที่คนกรุงเทพ มีความชุกของภาวะอ้วน

สูงที่สุด ร้อยละ 47 และผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงสุดถึงร้อยละ 65.3 นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง ภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีมูลค่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันยังเป็นลักษณะการตั้งรับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ว่า อ้วนเป็นโรค หรือต้องรักษา และให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนักเพื่อความงาม ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยยังไม่ตระหนัก เพราะเห็นว่าประชาชนสามารถลดน้ำหนัก ควบคุมอาหารได้เอง โดยไม่ต้องพบแพทย์ ดังนั้น จึงไม่มีใครมารักษาโรคอ้วน แม้ว่าจะยังไม่เกิดโรค และไม่มีการส่งตัวหรือให้สิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งๆ ที่ถ้าลดน้ำหนักได้ จะลดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย และลดค่าใช้จ่ายมวลในการรักษาเมื่อเกิดโรค 

ผศ.พญ.ศานิต กล่าวต่อว่า อ้วนเป็นโรคที่ป้องกันได้ และควรได้รับการรักษาก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ไม่เฉพาะคนไข้ ครอบครัว ระบบสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยเหลือ รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาต้องใช้เวลานาน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อยู่ ไม่รับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงแต่คุณค่าสารอาหารต่ำ หรือ อาหารขยะ เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ราคาไม่แพงเกินไป ขณะเดียวกันทุกโรงพยาบาลควรให้ความสำคัญกับโรคอ้วน ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก ไม่หักโหมหรือรับประทานอาหารเสริมโดยไม่มีผลทางคลินิกรองรับซึ่งทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในเด็กไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการส่งต่อทางกรรมพันธุ์อีกต่อไป แต่เกิดจากการส่งต่อของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู รวมถึงสิ่งแวดล้อม สถานที่เรียน สังคมที่หล่อหลอม ทำให้เด็กอ้วนมีพฤติกรรมเสี่ยง 3 เรื่อง คือ การกิน การเล่น สุขภาพจิตและการพักผ่อน ที่ไม่สมดุล

ซึ่ง 3 ประเด็นนี้ต้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการเพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงบานปลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนที่มีโรครุมเร้า ทุกคนควรให้ความร่วมมือลงมือแก้ไขในทุกระดับ ทั้งภาคการปฏิบัติเชิงนโยบายการวางแผน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ชุมชน และครอบครัว โดยกลุ่มเด็กอ้วนที่ควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามากที่สุด คือ เด็กอ้วนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งผู้ปกครองที่มีความรอบรู้การดูแลสุขภาพน้อย ต้องการความช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่คนรายได้น้อยเพราะเข้าถึงอาหารสุขภาพได้ยาก

โรคอ้วนในเด็กทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยชัดเจน ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้สถานการณ์โรคอ้วน ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ต้องกักตัวอยู่ที่บาน การใช้ชีวิตอยู่หน้าจอ การกินโดยไม่รู้ตัว ล้วนทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคอ้วนทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img