วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกHighlight“LAAB” สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ 7 พันโดสแรกถึงไทยแล้ว เร่งกระจายทั่วปท.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“LAAB” สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ 7 พันโดสแรกถึงไทยแล้ว เร่งกระจายทั่วปท.

”อนุทิน” เผยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ เข้ามาแล้วลอตแรก 7 พันโดส จะทยอยกระจายส่งทั่วประเทศ ยันมีความปลอดภัยช่วยป้องกันนาน 6 เดือน

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า จากการคาดประมาณ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ลอตแรกจำนวน 7 พันโดสเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้ สำหรับลอตแรกจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ตามข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรวบรวมจัดส่งเข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกที่สุด 

“ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการใช้ภูมิคุ้มกันตามข้อบ่งชี้ เนื่องจากได้รับการอบรมทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว และได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านให้บริหารจัดการการฉีด LAAB โดยพิจารณาการฉีดให้เป็นไปด้วยความเสมอภาค และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมถึงสังเกตอาการภายหลังได้รับ LAAB ตามมาตรฐาน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนวันนี้เป็นการนำร่องการให้ LAAB แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยภูมิคุ้มกัน LAAB จะมีแอนติบอดี 2 ชนิดบรรจุมา 2 ขวด โดยจะฉีดเข้าที่สะโพกของผู้ป่วยพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการฉีด 1 ครั้งประสิทธิผลในการป้องกันโควิดจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ยืนยันว่า LAAB มีความปลอดภัยและจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ อาการรุนแรง และการเสียชีวิตให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อเข้ารับการฉีด LAAB ได้ที่สถานพยาบาลตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกําหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อ อย.ในการนำมาใช้ในการรักษาต่อไปด้วย

“สำหรับประชาชนทั่วไปย้ำว่า ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยสามารถฉีดได้ทุก 3-4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ เนื่องจากขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า หลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.2 จึงยังต้องมาฉีดวัคซีนร่วมกับการเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการให้วัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกว่า 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เร่งให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 จึงได้จัดหาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว LAAB เพื่อนำมาฉีดก่อนการสัมผัสโรคโควิดให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง LAAB สู่ทุกพื้นที่เพื่อให้บริการได้โดยเร็วที่สุด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img