วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกNEWSศาลปกครองกลางตัดสิน“ธนาธร”ซื้อที่ดินราชบุรีสุจริต สั่งกรมที่ดินชดใช้คืน 4.9 ล้าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศาลปกครองกลางตัดสิน“ธนาธร”ซื้อที่ดินราชบุรีสุจริต สั่งกรมที่ดินชดใช้คืน 4.9 ล้าน

ศาลปกครองกลาง ชี้ธนาธรซื้อต่อราชบุรีมาโดยสุจริต สั่งกรมที่ดินชดใช้ 4.9 ล้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ฟ้องเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และเรียกค่าเสียหายจากการถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๑๘/๒๕๖๕ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๓๙/๒๕๖๖)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓. ก.) เลขที่ ๑๕๘ และเลขที่ ๑๕๙ ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ ๔๓ ไร่ ๓ งาน และเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๖๗ ตารางวา ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๗๔๗/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ใช้อำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓. ก.) ทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากตำแหน่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓.ก.) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข ๘๕)” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้ดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวรและเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓.ก.) ตามข้อ ๓ ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และข้อ ๘ (๒) ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่ดินประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน ๑ : ๓๐,๐๐๐ ระวาง 4836 II 5006 แล้วเห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๘ และเลขที่ ๑๕๙ ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข ๘๕ และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี”ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑,๐๖๙ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓. ก.) ตามข้อ ๓ ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และข้อ ๘ (๒) ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองอธิบดีซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มอบหมายจึงมีอำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ได้ ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๗๔๗/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓.ก.) เลขที่ ๑๕๘ และเลขที่ ๑๕๙ ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๘ ออกให้แก่นาย อ. และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๙ ออกให้แก่นาย ช. เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๑ ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ วรรคสอง (๒) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมา นาย อ. และนาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๘ หลังจากนั้น บริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่นาย ส. เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๓๔ และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย เมื่อนายอำเภอจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อนายอำเภอจอมบึงได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (กรมที่ดิน) จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ และไม่ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๘ มีเนื้อที่ ๔๓ ไร่ ๓ งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ ๑๖๐ บาท คิดเป็นเงินจำนวน ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๙ มีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๖๗ ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ ๑๙๐ บาท คิดเป็นเงินจำนวน ๒,๙๐๐,๗๓๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๕,๗๐๐,๗๓๐ บาท อย่างไรก็ดีผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๔,๗๘๕,๗๘๒.๙๘ บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ จนถึงวันที่ฟ้องคดี (๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕) คิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๑๒๖,๕๒๘.๒๓ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๔,๙๑๒,๓๑๑.๒๑ บาท ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือน เดือนละ ๑๓,๖๖๖.๖๗ บาท นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และค่าเสียหายจากการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน โดยค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน ๘๖,๕๕๕.๕๗ บาท นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๔,๙๑๒,๓๑๑.๒๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา ๗ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงินจำนวน ๔,๗๘๕,๗๘๒.๙๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ไม่เกินร้อยละ ๕ ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img