วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกNEWS“พท.”ยื่นญัตติแก้รธน.ม.256 ยืมมือ“วันนอร์” ส่งศาลรรธน.ชี้ขาดทำประชามติกี่ครั้ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พท.”ยื่นญัตติแก้รธน.ม.256 ยืมมือ“วันนอร์” ส่งศาลรรธน.ชี้ขาดทำประชามติกี่ครั้ง

“เพื่อไทย” ชงญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 แนะทำประชามติ 2 ครั้งลดเวลา-งบประมาณ หวังประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหาข้อยุติทำประชามติกี่ครั้ง เผยจ่อชงแก้กฎหมายประชามติ 3 ประเด็น

วันที่ 22 ม.ค.2567 เวลา 1330 น ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค พร้อม สส.พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. แถลงถึงกรณีการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. ว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทย 122 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1.คณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้น ตามนโยบายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน กำลังจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อ ครม. เท่าที่รับทราบได้มีข้อสรุปว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเสนอให้มีการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการถามประชาชนก่อน โดยยังไม่มีการเสนอร่างแก้ไขต่อรัฐสภาว่าสมควรจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 เมื่อมีร่างแก้ไขมาตรา 256 เสนอต่อรัฐสภา และร่างได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และครั้งที่ 3 เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สรุปคือทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาและงบประมาณมากพอสมควร เท่าที่ทราบคือ 3,000-4,000 กว่าล้านบาท

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 2.คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยศึกษาเรืองนี้มานาน เราเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่าเมื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถามประชาชนเสียก่อน ว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การถามประชาชนก่อนยังมีความสับสนไม่ตรงกันว่าถามในช่วงเวลาใด คณะกรรมการจึงตัดสินใจว่าก็ถามก่อนเลยโดยยังไม่มีญัตติ แต่คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยเห็นว่าถ้าเราจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 บวกกับการจัดตั้ง ส.ส.ร. แล้วให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ หลังจากจบวาระที่ 3 แล้ว จึงไปสอบถามประชาชนใน 2 ประเด็น คือถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 หรือไม่ และถามว่าท่านเห็นควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่เกิด ก็ถือได้ว่าเราปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กล่าวคือถามประชาชนก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเป็นดังที่พรรคเพื่อไทยเห็นก็จะสรุปได้ว่าจะทำประชามติถามประชาชนเพียง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาและภาระงบประมาณได้ อย่างไรก็ตามคำตอบอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดและ ตอบว่าควรถามสักกี่ครั้งและควรจะทำอย่างไร

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 3.อำนาจหน้าที่และแนวปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ตอบคำถามหรืออธิบายรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรวินิจฉัย โดยรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ แต่จะวินิจฉัยได้ต้องมีคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างปัญหาความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยเห็นว่าสามารถถามไปพร้อมกับการแก้ไขมาตรา 256 ได้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 4.ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคเพื่อไทย โดยสส.ทั้ง 122 คน จึงเห็นควรเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างดังกล่าวตามข้อเสนอของสำนักกฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่ามิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนเสียก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ขณะที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา กรณีนี้ก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หากเป็นเช่นนั้น สส.พรรคเพื่อไทยมีสิทธิเสนอประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยขอให้ประธานสภาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยมีเจตนาสำคัญคือต้องการหาข้อยุติว่าควรจะทำประชามติกี่ครั้ง

“ขณะนี้คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอต่อพรรคว่าเรามีมติว่าจะขอแก้ไขกฎหมายประชามติด้วย ขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว โดยมี 3 ประเด็น คือ 1.แก้กฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่าเสียงข้างมากนั้นต้องไม่ต่ำกว่าเสียงประสงค์ไม่ลงคะแนน 2.เราเสนอว่าประชามติอาจทำไปพร้อมๆ กันกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ 3.เราเสนอว่าประชามติส่วนใหญ่ในอดีตคือการไปลงคะแนนใช้บัตรกาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เราคิดว่าต่อไปให้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ เช่น อาจใช้วิธีการทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งได้ร่างกฎหมายเสร็จแล้วและกำลังนำเสนอหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันลงชื่อเสนอญัตตินำเสนอต่อสภา” นายชูศักดิ์กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img