วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกNEWSมติรัฐสภาค้านก้าวไกล 374 เสียงทำพปชร.-ก้าวไกล-ส.ว.เห็นต่าง ด้านพท.-ก้าวไกลเปิดศึกกันเอง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

มติรัฐสภาค้านก้าวไกล 374 เสียงทำพปชร.-ก้าวไกล-ส.ว.เห็นต่าง ด้านพท.-ก้าวไกลเปิดศึกกันเอง

รัฐสภาถกญัตติก้าวไกล โวยอย่าตีความกม.ตามเสียงข้างมาก ซัดกมธ.เสนอแก้โดยไม่มีอำนาจ ด้าน “คำนูณ”สอนอย่าแก้จนเลยเถิด ส.ส.ก้าวไกลขอดูร่างแก้ไขรธน.เวอร์ชั่นใหม่ ขณะที่พท.-ก้าวไกลเปิดศึกฟัดกันเอง

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่รัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วนของนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมปี 2563 ชี้ขาดกรณีที่ประชุมกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 83และ91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเกินกว่าที่รับหลักการไว้ในวาระที่จะทำได้หรือไม่

โดยนายธีรัจชัย ชี้แจงการยื่นญัตติต่อที่ประชุมว่า สิ่งที่กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมนั้น เกินจากหลักการในมาตรา83 และ91 เพราะไปแก้มาตรา85 มาตรา86 มาตรา92 มาตรา93 มาตรา94 และมาตรา105วรรคท้าย และเพิ่มบทบัญญัติอีก ขัดหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาวาระ1 ให้แก้ไขเฉพาะมาตรา83และ91 แค่2 มาตราเท่านั้น อีกทั้งมาตรา3 รัฐธรรมนูญระบุให้รัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาจะตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจไม่ได้ การตีความต้องไม่ผันแปรไปตามเสียงข้างมาก แต่การปฏิบัติหน้าที่ของกมธ.เสียงข้างมากตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเกินเลยจากหลักการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หากปล่อยให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่วินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้ชัดเจน อาจส่งผลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญอย่างระบบเลือกตั้งส.ส. โดยกระบวนการไม่ถูกต้อง เกิดผลกระทบภายหลังได้

นายธีรัจชัยกล่าวว่า หลายมาตราที่กมธ.แก้ไข ไม่ได้สำคัญถึงขั้นต้องแก้ แต่กลับแก้เกินหลักการ เป็นกระบวน การที่กมธ.เสนอแก้ไขเอง โดยไม่มีอำนาจ ไม่ผ่านการแปรญัตติของสมาชิก โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลให้สภาผู้แทนราษฎรร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จภายใน 120วัน ถ้าทำไม่เสร็จให้กกต.มีอำนาจออกหลักเกณฑ์การเลือกตั้งส.ส.ให้สอด คล้องกับรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาองค์กรเลือกตั้งมีปัญหาเรื่องบัตรเขย่ง  ส.ส.ปัดเศษ การวินิจฉัยมีปัญหา ที่มาของกกต.ยึดโยงถึงที่มารัฐบาลคสช. จะหาความเป็นธรรมในการเลือกตั้งได้อย่างไร ถ้ามีการยุบสภาก่อน 120วันที่กฎหมายลูกร่างเสร็จ รัฐสภาควรวางหลักบ้านเมืองให้มั่นคง ไม่ผันแปรไปตามผู้มีอำนาสั่งมา สมาชิกรัฐสภาควรสร้างหลักการกฎหมายให้มั่นคง เป็นที่เชื่อถือคนรุ่นหลัง อย่ายึดประโยชน์พรรค อย่าอ่อนข้อให้ใครได้ประโยชน์ใช้เสียงข้างมากบิดเบือน ทำลายหลักการสำคัญประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายแสดงความเห็นญัตติของนายธีรัจชัยนั้น มีส.ส.และส.ว.แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ในส่วนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนกมธ.มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกินหลักการได้ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ124 ให้อำนาจไว้ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล คัดค้านระบุว่า การที่กมธ.ไปเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินจากหลักการในมาตรา 83และ91 เป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ ขัดรัฐธรรมนูญ  ส่วนส.ว.อภิปรายไปทำนองเดียวกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินหลักการที่เสนอมาได้ แต่ต้องเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเกินเลยหลายมาตรา อาทินายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกมธ. ชี้แจงยืนยันญัตติที่นายธีรัจชัยเสนอเป็นแค่การแสดงความเห็นส่วนตัวที่อยากคัดค้านการแก้รัฐธรรม นูญบัตรเลือกตั้ง 2ใบเท่านั้น ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ124 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นข้อบังคับที่บัญญัติมานนานแล้ว ใครไม่เป็นนักกฎหมายก็อ่านเข้าใจ เพราะระบุชัดเจน การเพิ่มมาตราใหม่ทำได้ ถ้าเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับหลักการที่เสนอมา อีกทั้งการเพิ่มมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการระบบเลือกตั้งผ่านการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาแล้วกมธ.นำมาใช้ดุลยพินิจเพิ่มความต่างๆ มาตราที่กมธ.เสนอมาทั้งหมดไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตีความ 

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า การตีความข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ124  ถ้าจะตีความเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาผู้ยื่นแปรญัตติเพียงอย่างเดียวก็ขัดกับนิติประเพณีที่ทำกันมา เพราะเป็นอำนาจกมธ.ด้วย  การแปรญัตติไม่ใช่เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ถ้ากมธ.ไม่มีอำนาจเสนอแก้ไขแล้ว กมธ.จะมีอำนาจสงวนความเห็นได้อย่างไร หลักการข้อบังคับข้อ124คือ การแปรญัตติเพิ่มใหม่ต้องไม่ขัดหลักการ เว้นแต่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวเนื่องกับหลักการ แต่การจะเพิ่มเติมขัดหลักการได้ ต้องทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น เฉพาะกรณีถ้าไม่แก้แล้วจะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้รัฐ ธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่า มีมาตราเดียวที่เข้ากับข้อบังคับที่124 คือการแก้ไขมาตรา86 ที่ระบุมีส.ส.เขต 350 คน ถ้าไม่แก้ไขแล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาได้ การไปตีความมาตราที่เกี่ยวเนื่องอย่างกว้าง อาจกระเทือนหลายมาตรา เพราะทุกมาตราเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไปทำให้เกิดประเพณีใหม่ว่า ข้อบังคับที่124 แก้ไขได้กว้างขวาง ในอนาคตอาจเสนอแก้รัฐธรรม นูญ 2-3มาตรา แต่มีกมธ.ไปแก้ไขเพิ่ม 10-20มาตรา เลี่ยงการแก้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เรื่องนี้ต้องตีความอย่างแคบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทั่งเวลา 17.10น. หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย ปรากฏว่า นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามว่า การลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย จะยึดข้อมูลตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในฉบับเดิมที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.ใช่หรือไม่ และเพื่อความมั่นใจขอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กมธ.ไปปรับปรุงแก้ไขมาเสร็จแล้วด้วย แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. ปฏิเสธที่จะให้ดู อ้างว่า ยังไม่ถึงวาระการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถให้ดูเนื้อหาที่แก้ไขใหม่ได้

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามสอบถามที่ประชุมรัฐสภาว่า จะลงมติโหวตกันอย่าง เพราะญัตติของนายธีรัจชัยเขียนแบบกว้างๆ จะตั้งคำถามการลงมติกันอย่างไร เพราะไม่รู้ว่า ญัตติต้องการถามว่า กมธ.เสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญเกินเลยจากหลักการ หรือต้องการกล่าวหากมธ.ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ124 ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือหลักนิติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีนี้รัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นการตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สภาฯจะมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าญัตติไม่สมบูรณ์เช่นนี้ สภาฯก็ไม่จำเป็นโหวตญัตติดังกล่าว ทำให้นายธีรัจชัยลุกขึ้นตอบโต้ด้วยความไม่พอใจทันทีว่า มีผู้พยายามบิดเบือน เบี่ยงเบนประเด็นให้ญัตติตกไป โดยไม่ต้องลงมติโหวต

ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอว่า เมื่อหลายคนอยากเห็นเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กมธ.ไปปรับปรุงแก้ไขมา ก็จะแจกร่างฉบับแก้ไขให้สมาชิกไปอ่าน เพื่อทำความเข้าใจแล้วค่อยมาตัดสินใจโหวตลงมติญัตตินายธีรัจชัยอีกครั้งในวันที่ 25ส.ค. ทั้งนี้หลังจากใช้เวลาถกเถียงกันยาวนานว่าจะลงมติกันอย่างไรร่วม 1ชั่วโมง

ในที่สุดนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ยืนยันให้เดินหน้าลงมติญัตติของนายธีรัจชัย โดยตั้งคำถามว่า เห็นด้วยกับญัตติของนายธีรัจชัยในการกล่าวหากมธ.หรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตตินายธีรัจชัยด้วยคะแนน 374 ต่อ60 งดออกเสียง 193 ไม่ลงคะแนน 4

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img