วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกNEWS“สมชัย”แนะจับตาพรรคเล็กตัวแปร ต่อรองผลประโยชน์ได้ก็ไม่ยุบสภา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สมชัย”แนะจับตาพรรคเล็กตัวแปร ต่อรองผลประโยชน์ได้ก็ไม่ยุบสภา

“สมชัย” แนะจับตาพรรคเล็กตัวแปรต่อรองศึกซักฟอก ประสานต่อรองผลประโยชน์ได้ก็ไม่ยุบสภา ชี้ยุบสภาหลังเอเปคไร้ความหมาย เชื่อเทคนิคการเมืองมากกว่า ไร้สาระบอกเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชา

วันที่ 16 มี.ค.65 ที่รัฐสภา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุกับแกนนำพรรคเล็กว่านายกรัฐมนตรีจะยุบสภาช่วงหลังการประชุมเอเปค ปี 2565ว่า การยุบสภาเป็นอำนาจตัดสินใจของตัวนายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ว่าไม่สามารถที่จะบริหารราชการแผ่นดินภายใต้สภาฯชุดนี้ได้ หมายถึงการที่ไม่สามารถควบคุมเสียงส.ส.ในสภาฯได้อีกต่อไป ขณะนี้ตนเข้าใจว่ารัฐบาลอยู่ในขั้นพยายามประสานฝ่ายต่างๆ เพื่อให้คะแนนเสียงในฝั่งของรัฐบาลมีความมั่นคง เรื่องการนัดรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่ พรรคกลางหรือพรรคเล็ก ก็เป็นความพยายามที่จะรักษาคะแนนในฝั่งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ แต่ว่าตัวแปรที่สำคัญอยู่ที่พรรคเล็ก เนื่องจากพรรคเล็กมีคะแนนเสียงรวมประมาณ 10-20 เสียง เป็นคะแนนที่พร้อมเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ และหากเปลี่ยนไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งนั่นก็หมายถึงชัยชนะและความพ่ายแพ้ของอีกฝั่งหนึ่ง อีกทั้งจังหวะเวลาที่พรรคเล็กมีอำนาจต่อรองสูงสุด เป็นเวลาเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้าที่มีการเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนเข้าใจว่าการเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้น และอาจจะมีการเสนอให้ทางฝ่ายรัฐบาลให้ประโยชน์อะไรต่างๆเพื่อเป็นการตอบแทนการลงคะแนน ดังนั้นเมื่อถึงจุดนั้นหากเป็นเรื่องที่เจรจาสำเร็จสามารถประสานผลประโยชน์กันได้ การยุบสภาก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่ารัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาฯเพียงพอ และถ้าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ใหญ่มากและไม่อาจรับได้ก็คงเป็นจังหวะเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องตัดสินใจว่าถ้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไปไม่ได้ จะเลือกลาออกหรือยุบสภา ซึ่งการยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม ส่วนประเด็นที่บอกว่าจะรอหลังการประชุมเอเปค ตนคิดว่าถ้าเอาจังหวะเวลาดังกล่าวมาพิจารณานั้นไม่มีความหมายเลย เพราะเดือนพ.ย.จะเกือบจะครบวาระ 4 ปีในเดือนมี.ค. ปี 66 ดังนั้นเหลือเพียงแค่ 4 เดือนไม่ได้มีความหมายอะไร ซึ่งการรอให้ครบวาระกลายเป็นข้อจำกัดทางการเมืองมากกว่า เพราะเมื่อครบวาระแล้วส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้การขยับตัวทางการเมืองของส.ส.เป็นไปด้วยความยากลำบาก

“การตัดสินใจยุบสภาก่อนครบวาระนั้น ทำให้การนับความเป็นสมาชิกภาพของส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองนับเพียงแค่ 30 วันก่อนการเลือกตั้ง ผมคิดว่านี่เป็นเทคนิคทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลต้องตัดสินใจยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อทำให้เขาเองมีโอกาสทางการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหม่ต่างๆที่ตั้งขึ้นมามีโอกาสรองรับสมาชิกพรรคเดิมที่รู้สึกว่าไม่สามารถใช้เป็นหนทางที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง การบอกว่ายุบสภาเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนนั้นผมว่าไร้สาระ เพราะไม่ได้เป็นของขวัญ แต่เป็นเทคนิคทางการเมืองเท่านั้น เพื่อให้สามารถย้ายพรรคการเมืองได้ 90 วัน ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่หรือน่าสนใจอะไร” นายสมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า นัยยะการออกมาพูดของพล.อ.ประวิตรครั้งนี้ เป็นการหยั่งกระแสฝ่ายการเมืองว่ายังมีเวลายืดอายุรัฐบาลไปถึงปลายปีหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า รัฐบาลทุกชุดปรารถนาอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด และให้ความหวังคนที่ยังอยู่ร่วมกันว่าเรายังอยู่อีกนาน มันก็เป็นเรื่องการทำให้เกิดความรู้สึกว่ายังทำงานรวมกันได้ ตนคิดว่าในขณะนี้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมในการเลือกตั้งอยู่แล้ว พรรคการเมืองทุกพรรคไม่กลัวการยุบสภา มีการไปสรรหาตัวผู้สมัคร และการเตรียมตัวโครงสร้างของพรรคในระดับพื้นที่เพื่อพร้อมในการเลือกตั้ง หากสถานการณ์จำเป็นต้องยุบสภา และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกพรรคก็พร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง

เมื่อถามว่าตอนนี้ฝ่ายค้านจับตาวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มองว่าหากยุบสภาหลังการประชุมเอเปค จะเป็นการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี นายสมชัย กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องคุยกัน และกลายเป็นประเด็นที่อาจบานปลายประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงเดือนส.ค. แต่ทั้งนี้ตนมองว่าการยุบสภาจะไม่เกี่ยวกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องที่นายกฯไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ภายใต้จำนวนส.ส.ที่มีในสภาฯมากกว่า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img