วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกNEWS“3 นิ้ว”บุกยื่น“อมรัตน์”สอบ“กรมคุก” หลังนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตาย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“3 นิ้ว”บุกยื่น“อมรัตน์”สอบ“กรมคุก” หลังนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตาย

ม็อบ 3 นิ้ว บุกยื่น “อมรัตน์” ช่วยจี้รัฐคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขัง พร้อมชงตรวจสอบ “กรมราชทัณฑ์” โปร่งใสหรือไม่ หลังนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ

วันที่ 29 มิ.ย.65 ที่รัฐสภา กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ นำโดย น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน อดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา นางปุณิกา ชูศรี หรือ อร อดีตผู้ต้องขัง และน.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา แกนนำกลุ่มราษฎร เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ภายหลังมีนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตายช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมจี้คืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขัง โดยมีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขาธิการกมธ. เป็นตัวแทนรับเรื่อง

โดยน.ส.ณัฎฐธิดา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นรุ่นพี่ที่ถูกฝากขังพิจารณาคดีนานที่สุดคนหนึ่ง จึงมีความประสงค์ที่จะยื่นหนังสือต่อนางอมรัตน์ ในฐานะส.ส.ที่เป็นความหวังของชาวคุกทุกคน โดยทางกลุ่มต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้เข้าเยี่ยมต้องมีรายชื่อหนึ่งใน 10 คนเท่านั้น แต่ตนในฐานะเพื่อนที่ไม่ใช่ญาติจึงไม่สามารถเยี่ยมได้ จึงต้องการเรียกร้องสิทธิในข้อนี้เพื่อให้สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนแทนญาติที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ รวมถึงสิทธิในการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงหวังว่าสิ่งที่มายื่นในวันนี้จะทำให้กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนทุกคนที่อยู่ในเรือนจำในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องความเสมอภาค และยกเลิกสวนสัตว์มนุษย์ในเรือนจำ เนื่องจากเงินบริหารในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่มาจากประชาชน จึงขอให้ใช้อย่างสมเหตุสมผล

ด้านนางปุณิกา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีชายชุดดำที่ถูกฝากขังในเรือนจำถึง 2 ปี 7 เดือน จึงอยากเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขอนามัย การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งการที่จะได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก โดยด้านในเรือนจำยังเป็นระบบที่จะต้องตะโกนเรียกผู้คุม เพื่อให้มาดูแลเราในตอนที่เราเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งกว่าจะเรียกได้บางทีก็สายเกินไป คิดว่าควรเปลี่ยนให้มีการติดสัญญาณที่สามารถเรียกผู้คุมได้ ทั้งนี้ในการติดกล้องวงจรปิด ติดเครื่องสแกนตัวยังสามารถทำได้ แต่เพราะอะไรจึงไม่สามารถติดกริ่งเพื่อจะกดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ป่วย

ขณะที่น.ส.วรรณวลี กล่าวว่ากรณีของนายพลพล จิตรสุภาพ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สที่ถูกคุมขังพยายามฆ่าตัวตายโดยการรับประทานยาพาราเซตามอล 60 เม็ด ก่อนถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น รวมถึงมีการกรีดข้อมือตัวเองด้วย ซึ่งเมื่อได้รับข่าวก็ถือว่าเป็นการล่าช้ามาก เพราะเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว 2-3 วันแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์และกรมราชทัณฑ์ กลับไม่ได้มีการแจ้งญาติและทนายให้ทราบ จึงตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า มีการพยายามปกปิดข้อมูลในส่วนนี้หรือไม่ รวมถึงมีความสงสัยในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสืบสวนจนถึงชั้นศาลที่มีการฝากขัง คือกรณีที่มีการฝากขังโดยที่เจ้าตัวเข้าไปมอบตัวและรายงานตัวด้วยตัวเอง แต่กลับถูกศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ ซึ่งสงสัยในชั้นสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขัง ไปแจ้งข้อกล่าวหากับตนเองใช่หรือไม่ รวมถึงศาลได้ดูเหตุผลและหลักฐานก่อนจะออกหมายจับหรือไม่

“จึงอยากฝากส.ส.อมรัตน์ และพรรคก้าวไกล ให้ช่วยกันตรวจสอบ เพราะประชาชนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปดูผู้ต้องขังได้ เราต้องอาศัยส.ส.ในสภาที่เป็นผู้มีอำนาจจากที่ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมา และไม่เล็งเห็นเลยว่าจะมีหน่วยงานไหน ที่กล้าจะออกมารับเรื่องเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายใบบุญ ไทยพานิช หรือ โอม ที่ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนเป็นทางยาว ซึ่งเมื่อมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล ได้มีการใส่ถุงมือยาวทั้งแขน จึงสงสัยว่าราชทัณฑ์พยายามจะปกปิดเรื่องนี้หรือไม่ ทำไมจึงให้น้องใส่ถุงมือ” น.ส.วรรณวลี กล่าว

ทั้งนี้นางอมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการกมธ.ฯจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมภายในวันนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของนักกิจกรรมทางการเมืองมีลักษณะปิดข่าวจากกรมราชทัณฑ์ โดยเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันศุกร์ แต่โลกภายนอกกว่าจะรู้เรื่องคือวันจันทร์ หากเกิดรุนแรงมากกว่านี้ ใครจะสามารถช่วยได้ทัน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมทบทวนแนวทาง เรื่องการกำหนดคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในดุลยพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องโควิดในการจำกัดการเข้าเยี่ยม ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กฎเกณฑ์จึงควรผ่อนคลายได้ อย่าให้โลกประนามไปมากกว่านี้ว่า ประเทศไทยมีการนำกฎหมายอาญา ม.112 และระเบียบเรือนจำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่าง

“สภาแห่งนี้ ใช้งบสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นสภาของประชาชน ทุกคนต้องเข้ามาใช้ได้ และควรใช้พื้นที่แห่งนี้พูดคุยกัน ไม่ใช่พอมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมแล้วต้องเรียกเข้าไปคุยในกระทรวงกลาโหม ประเด็นที่จะนำเข้าไปใน กมธ. คือ เรื่องสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ถูกจำกัด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง กรมราชทัณฑ์อ้างโควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการจำกัดจำนวนเยี่ยม เป็นการทำให้ผู้ต้องขังที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เกิดความเครียดและทำร้ายตัวเองหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องนี้” นางอมรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการยื่นหนังสือ กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำได้มีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและตะโกนคำว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” อยู่ประมาณ 3 ครั้งก่อนแยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img