วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกNEWSกมธ.งบฯ จี้ดีอีเอสแก้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นวาระแห่งชาติ-จัดการเด็ดขาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กมธ.งบฯ จี้ดีอีเอสแก้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นวาระแห่งชาติ-จัดการเด็ดขาด

กมธ.งบฯ ถกงบดีอีเอส กำชับแก้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยกเป็นวาระแห่งชาติ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการเด็ดขาด

วันที่ 29 มิ.ย. 65 ที่รัฐสภา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงผลการประชุมกมธ.งบประมาณ ปี 2566 โดยน.ส.จิราพร กล่าวว่า ในการพิจารณาเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) กมธ.ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7,556,489,900 บาท ทั้งนี้มีกมธ.ฯบางคนสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและความก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานกนศ. เพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ในปัจจุบันคณะกรรมการฯ กำลังรอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ นำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวของหน่วยงานต่างๆ และนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมกนศ.สรุปผล เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากมธ.ฯได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 15 วัน รวม 136 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 6 กระทรวง 4 หน่วยงาน 5 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 22.2 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ

ด้านนายณัฏฐ์ชนน กล่าวว่า ที่ประชุมกมธ. ยังพิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งมีกมธ.ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเสนอแนะและสะท้อนว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก จากกรณีที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกให้โอนเงิน ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้ถึงข้อมูลส่วนตัวในเชิงลึกของประชาชน เพราะมีการซื้อขายข้อมูลส่วนตัว และสามารถเลือกบัญชีเป้าหมายได้ตามความต้องการของมิจฉาชีพ เมื่อประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินแล้วจะมีการโอนเงินจากบัญชีที่รับโอนภายใน 5 นาที ส่วนใหญ่จะมีการโอนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพื่อที่จะไม่ให้เหยื่อสามารถไปทำธุรกรรมได้เหมือนวันปกติ และปกติคนไทยมีซิมโทรศัพท์เพียงแค่ 1-2 ซิม แต่จากการตรวจสอบบางคนมีเบอร์โทรศัพท์ 4,000 ซิม หรือ 5,000 ซิมบ้าง นี่คือสิ่งที่กมธ.ต้องการให้กระทรวงดีอีเอสรีบไปดำเนินการ โดยให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดีอีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์

นายณัฏฐ์ชนน กล่าวต่อว่า ด้านผู้แทนจากกระทรวงดีอีเอสชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่แก๊งระดับประเทศ แต่เป็นมิจฉาชีพข้ามชาติที่มีหลายประเทศตกเป็นเหยื่อ โดยแก๊งเหล่านี้จะอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย เพื่ออาศัยเสาสัญญาณโทรศัพท์ของประเทศไทยทุกเครือข่ายเอื้อประโยชน์ แม้ว่าจะใช้การโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงใช้วิธีการปิดกั้นทางการเงินเอา เพราะเมื่อมิจฉาชีพได้รับการโอนเงินมาแล้วจะโอนต่อไปอีกอย่างน้อย 4 บัญชี และเป็นบัญชีต่างประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันแก้ปัญหา เช่นการส่งข้อความเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนประชาชน หรือให้ผู้นำท้องถิ่นเตือนประชานเบื้องต้นอีกทาง นอกจากนี้ยังมีกมธ.บางส่วนท้วงติงเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารในกทม. และทั่วประเทศที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยให้กระทรวงดีอีเอสจัดเก็บหรือตรวจสอบสายที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อดำเนินการให้เรียบร้อย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img