วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเจาะลึกวัคซีนชนิด mRNA กับการสร้างเกราะป้องกันไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เจาะลึกวัคซีนชนิด mRNA กับการสร้างเกราะป้องกันไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่มีการพบโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นครั้งแรกในโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลสายพันธุ์ใหม่นี้ แพร่กระจายไปมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจากโมเดอร์น่าและไฟเซอร์ช่วงก่อนคริสต์มาสเปิดเผยว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ช่วยให้ภูมิคุ้มกันกลับมาสูงขึ้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดอาการรุนแรงลง คนไทยเองก็เริ่มมีคำถามเช่นกันว่า เราต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นด้วยไหม ฉีดกี่เข็ม และปริมาณวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับคนไทย แค่ไหนจึงจะเหมาะสม

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นมีความจำเป็นมาก เพราะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และเป็นธรรมชาติที่เชื้อต้องการอยู่รอด จึงปรับตัวหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราไปเรื่อย ๆ วิธีที่จะจัดการไม่ให้เชื้อหนีเราไปได้มี 2 วิธี คือ การทำให้ภูมิคุ้มกันของเราสูงขึ้นหรือหาวัคซีนใหม่ แต่สำหรับโควิด-19 ที่มีการระบาดต่อเนื่องแบบนี้ การหาวัคซีนใหม่นั้นยากเพราะต้องใช้เวลา

“การกระตุ้นไม่ให้ภูมิคุ้มกันลดลงจึงเป็นทางออกในตอนนี้ วัคซีนหรือยาทั่วไปก็เหมือนกันคือเมื่อร่างกายได้รับวัคซีนหรือยาแล้ว ภูมิคุ้มกันจะสูงอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะค่อยๆลดลง เราจึงต้องกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สูงไว้จนกว่าเราจะมีวัคซีนโควิด-19 ใหม่ หรือโควิด-19 ไม่เป็นโรคระบาดแล้ว และกลายเป็นเหมือนไข้หวัดตามฤดูกาล”

คำถามสำคัญตอนนี้ คือ ปริมาณของวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นต้องใช้แค่ไหนจึงจะเหมาะสม ขณะนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของโมเดอร์น่าเข็มกระตุ้น ขนาด 50 ไมโครกรัมและ 100 ไมโครกรัม และจะเน้นการวิจัยในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 2 เข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน  เช่น ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มแรก หรือวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็มแรก 

สาเหตุที่จำเป็นต้องทำการวิจัยนี้ในประเทศไทย เนื่องจากการศึกษาในต่างประเทศนั้น ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มแรกและเข็มสองเป็นชนิด mRNA ส่วนในประเทศไทย ในระยะแรก ประชาชนได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ ผลการศึกษาจากต่างประเทศจึงอาจมีข้อมูลที่แตกต่างไป จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ

การวิจัยนี้จะเน้นศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่มีต่อโปรตีนหนาม (Spike Protein) ที่ไวรัสใช้จับกับตัวรับบนเซลล์ของร่างกาย คือ IgG และใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มกระตุ้นเนื่องจากผลการวิจัยทั่วโลกยืนยันว่าวัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น 

“ตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะ เราจึงต้องอาศัยวัคซีนชนิด mRNA ที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิได้มากเป็นหลัก ในการวิจัย และต้องใช้เวลา 2-3 เดือนจึงจะเสร็จสิ้น จึงน่าจะทราบผลการวิจัยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565” ศ.นพ.นิธิกล่าว

ในระหว่างนี้ ศ.นพ.นิธิแนะนำว่า ประชาชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษาโควิด-19 รวมทั้งติดตามข้อมูลทางวิชาการอยู่เสมอ เพราะมีข้อมูลใหม่ออกมาอยู่เรื่อย ๆ ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างก็มีการพัฒนาวัคซีนใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

“เราไม่ควรกังวลมากเกินไปกับข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะแพทย์จะต้องหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนอยู่แล้ว สิ่งที่ทุกคนควรทำ คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ให้ได้ พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ใส่หน้ากากล้างมือ ไม่อยู่ใกล้กันมากเกินไป แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จะให้อยู่ห่างกันมากคงไม่ได้ ดังนั้น วัคซีนจึงมีความสำคัญมากในขณะนี้ และควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันไม่ให้ลดลงมาก” ศ.นพ.นิธิกล่าว

สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ไปแล้ว ศ.นพ.นิธิแนะนำว่าให้ทิ้งช่วงประมาณ 4-6 เดือนก่อนจะรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ควรทิ้งช่วงประมาณ 2-3 เดือน และไวรัลเวคเตอร์ 3-6 เดือน ทั้งนี้ระยะห่างก่อนฉีดเข็มกระตุ้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับอัตราการระบาดในสังคม ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ รวมถึงความเสี่ยงจากโรคประจำตัวของแต่ละคนที่จะทำให้ระดับความรุนแรงของโรคมีมากขึ้น

วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น จึงเป็นทางเลือกที่ได้ผลมากที่สุด จนกว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศว่าการระบาดของโควิด-19 ยุติลงแล้ว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img