วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย”วิกฤติ-ไม่วิกฤติ??? แต่“สะเทือน”เก้าอี้“ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย”วิกฤติ-ไม่วิกฤติ??? แต่“สะเทือน”เก้าอี้“ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ”

กลับกลายมาเป็นประเด็นร้อนฉ่า…ในแวดวงกูรู แวดวงนักวิชาการ และสังคมไทยอีกรอบ!! กับเรื่องราวของ สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ว่าสรุปแล้ว “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” กันแน่

หลังจากเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ฟากฝั่งรัฐบาล ได้ปล่อยหลุด เอกสารประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2566 และปี 2567 ของกระทรวงการคลัง ทั้งที่ยังอยู่ในชั้น “ลับ”

พร้อมระบุว่า สรุปแล้วจีดีพีปี 66 เติบโตเพียง 1.8% เทียบกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 66 ว่าจะเติบโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 65 ที่เติบโต 2.6%

ทั้งที่เอกสารนี้…เป็นเอกสารข่าวแจก ที่กระทรวงการคลังเตรียมแถลงข่าวและเผยแพร่ต่อสาธารณะในวันรุ่งขึ้น!! ต่อมา…ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ก็มีการระบุว่า ขอให้รอการยืนยันจากกระทรวงการคลังให้ชัดเจนก่อน!!

ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เคยใช้อำนาจใดๆ ที่จะ “สั่ง” ขอดูตัวเลขเศรษฐกิจก่อน เพราะ…ต้องให้เกียรติ!! และให้อิสระ คนทำงานด้วย

ความพยายามทำให้สังคมเห็นว่า ประเทศกำลังวิกฤติ!! เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ!! ในครั้งนี้… ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถาม? ว่า…รัฐบาลต้องใช้ทุกทางเพื่อเข็นพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท ออกมาให้ได้ ใช่หรือไม่?

เรื่องนี้!! น่าจะสะท้อนให้ฉุกคิดได้ว่า บางที…จะด้วยความหวังดี!! จะด้วยความต้องการเสนอให้สังคมเห็นตัวเลขที่ชัดเจน !! แต่บางครั้งการ “เร่งรีบ” ก็ทำให้สังคม “ดีดกลับ” จนตัวเองเจ็บเอง…ก็เป็นไปได้

ด้วยเพราะ…เอกสารข่าวชิ้นนี้ เป็นการคาดการณ์!! เท่านั้น เพราะตัวเลขจริงทั้งหมด จะถูกนำเสนอโดย “สภาพัฒน์” ที่เตรียมเปิดเผยข้อมูลในเดือนก.พ.นี้

แม้ว่าทีมงานของกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวคอนเฟิร์มตัวเลขว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดการณ์ว่าเติบโตได้ที่ 1.8% ก็ตาม

แต่!! อย่าลืมว่า การคาดการณ์ ก็คือ…การคาดการณ์ !! เพราะต้องรอดูตัวเลขจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่า สุดท้ายแล้ว ตัวเลขที่สภาพัฒน์ เตรียมเปิดเผยออกมานั้น จะสอดคล้อง สอดรับ หรือแตกต่างจากตัวเลขของกระทรวงการคลังหรือไม่? มากน้อยอย่างไร?

ล่าสุด… บรรดากูรู บรรดานักเศรษฐศาสตร์เอง ต่างก็ “ตกใจ” กับตัวเลขคาดการณ์ในครั้งนี้!! เพราะต่ำกว่าที่บรรดาสำนักวิจัยคาดการณ์กันไว้มาก หรือ!! จีดีพีหายไปจากที่คาดการณ์อย่างน้อย 0.7-0.8%

หากเป็นเช่นนั้นจริง!! เท่ากับว่า…เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมากๆ และมีความเปราะบางมาก ๆ!!

ที่สำคัญ!! ยังผิดแผกแหวกแนวไปจากหน่วยงานทางเศรษฐกิจหลายๆ หน่วยงานประเมินไว้ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ

หรือแม้กระทั่งเวิลด์แบงก์ ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 น่าจะเติบโตได้มากกว่า 2% แน่นอน โดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5-2.6 %

ทั้งหลายทั้งปวง เวลานี้คงหนีไม่พ้น ที่ต้องรอลุ้นตัวเลขที่ชัดเจนจากสภาพัฒน์ นั่นก็ทำให้แรงกดดันตกไปอยู่ที่ “สภาพัฒน์” อีกเช่นกัน โดยเฉพาะแรงสงสัย!!ว่าจะมีแรงทางการเมืองเข้ามาแทรกซึมหรือไม่?

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า โครงการแจกเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย ถูกขวากหนามอุปสรรครุมเร้ามากมาย

ด้วยเหตุนี้…รัฐบาลได้พยายามทำทุกทาง เพื่อให้โครงการนี้คลอดออกมาให้ได้ แต่ความพยายามของรัฐบาลนั้น!! รัฐบาลมองว่า เป็นความพยายามแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในฝ่ายของนโยบายการคลัง

รัฐบาลมองว่า…ฟากฝั่งของนโยบายการเงิน กลับไม่ได้เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่สอดรับกัน การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่เป็นความตั้งใจดีของรัฐบาล แทนที่จะก้าวไปแบบโล่งๆ กลับมีอันต้องสะดุดกึก

ต้องยอมรับว่า…เรื่องของนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา หรือไม่สอดคล้องกันนั้น มีมาโดยตลอด จนหลายยุคหลายสมัยสะเทือนไปยังผู้กำกับดูแลนโยบายการเงิน

คราวนี้!! ก็เช่นกัน ความเห็นที่แตกต่าง อาจนำไปสู่ความสั่นคลอนของผู้ว่าแบงก์ชาติ คนปัจจุบันก็ว่าได้ แม้ว่าตามวาระแล้ว จะครบกำหนดวาระ 5 ปี ในปี 68

แม้ว่า “นายกฯเศรษฐา” จะประกาศไว้ชัดเจนว่า ความเห็นต่างจะเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม และไม่ต้องการสร้างวาทกรรมใหม่ว่าเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ก็ตาม!!

………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img