วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา“ผู้ว่าฯกฟผ.คนที่ 16” จะสร้างผลงานใน 1 ปีให้โลกจำได้ยังไง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา“ผู้ว่าฯกฟผ.คนที่ 16” จะสร้างผลงานใน 1 ปีให้โลกจำได้ยังไง?

เป็นที่เรียบร้อยเมื่อครม.วาระพิเศษ 3 มี.ค.67 เห็นชอบให้ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 คือ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เข้ารับตำแหน่ง หลังเสียเวลาไปกว่า 1 ปีในการเป็นผู้ว่าฯกฟผ.ของ “เทพรัตน์” จากบทยื้อยุดฉุดกระชากของ “คนบางกลุ่ม”

อย่างไรก็ตาม แม้ “เทพรัตน์” จะได้ทำหน้าที่ผู้ว่าการกฟผ.ในช่วงสั้นๆ แต่ก็ได้ขึ้นทำเนียบผู้ว่ากฯฟผ.กับเขาเสียที ก็ลุ้นอีกทีกับผู้ว่าฯกฟผ.คนที่ 17 ต่อไปเลยที่ จะมีตัวเต็งแห่มาสมัครใหม่

สำหรับประวัติการบริหารงานของ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ปี 2560-2561 เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ ปี 2561-2563 เป็นรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และปี 2563-ปัจจุบัน เป็นรองผู้ว่าการ ประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก” ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

ผลงานในช่วงอยู่เอ็กโกมา 3 ปีกว่าๆ ก็ทำกำไรสุทธิมาตลอด ปี 2563 ที่ 8,733.03 ล้านบาท ปี 2564 ที่ 4,013.84 ล้านบาท ปี 2565 ที่ 2,683.10 ล้านบาท แต่มาปี 2566 ที่สะดุดใหญ่กำไรสุทธิติดลบไป 8,384.07 ล้านบาท เหตุจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ Yunlin ก่อสร้างไม่ได้ตามแผน เนื่องจากเป็นโครงการที่ติดตั้งบริเวณช่องแคบไต้หวันไปเจอมรสุมเข้า และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไต้หวันมีมาตรการการเข้า-ออกประเทศที่เข้มงวดและมีการประกาศปิดประเทศ ส่งผลต่อการเดินทางและการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และโครงการล่าช้าไป จากต้องจบในปี 2654-2565 เลื่อนมาเป็น 2566-2567

โครงการ Yunlin นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของเอ็กโก ในการขยายการลงทุนไปยังตลาดพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไต้หวัน เป็นโครงการแรกที่เอ็กโกเข้าไปลงทุนในไต้หวัน หลังเข้าไปซื้อหุ้น โรงไฟฟ้าพลังงานลม หยุนหลิน โฮลดิ้ง จีเอ็มบีเอช ในไต้หวัน บริษัทย่อยของ บริษัท ไต้หวัน ออฟชอร์ โฮลดิ้ง จีเอ็มบีเอช จำกัด ของประเทศไต้หวัน เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง กำลังการผลิต 640 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของมณฑลหยุนหลิน ในไต้หวัน เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร

ได้ชื่อว่าเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล ทำให้ไต้หวันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในพลังงานลม ทั้งบนบกและนอกชายฝั่งทะเล แต่ก็เป็นพื้นที่มรสุมโซน ทำให้ “เทพรัตน์” และ “ผู้บริหารเอ็กโก” กังวลไม่น้อย เพราะเป็นมรสุมโซน 7 เดือนเข้าพื้นที่ไม่ได้ มีเวลาก่อสร้างจำกัดจำเขี่ยเพียง 5 เดือน เมื่อเจอโรคเลื่อนมาแล้ว ปี 66-67 ก็เลยต้องโฟกัสกันหน่อย ปีที่แล้วตอกเสากังหัน (Monopile) ใหญ่ยักษ์สูง 110 เมตร หัวใจของโครงการพลังงานลมเสร็จไปแล้วรวม 45 ต้น ติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generator) จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 33 ต้น คิดเป็นกำลังผลิตรวม 264 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) เฉลี่ยของโครงการสูงกว่า 40%

เข้าเดือนมีนาคม 67 ถึงฤดูก่อสร้างแล้ว เอ็กโกเร่งงานกันตั้งแต่วันแรกของเดือน ตอกเสาให้ครบ 80 ต้นปีนี้ เดินหน้าผลิตให้ครบ 640 เมกะวัตต์ มีเรือขนาดใหญ่ที่จองล่วงหน้ากันข้ามปีมาทำงาน 2 ลำ ได้แก่ เรือ DLS-4200 ซึ่งมีประสบการณ์ติดตั้ง Monopile ในปีที่แล้ว และเรือลำที่ 2 Blue Wind แบบ Jack UP ทำงานในช่วงคลื่นลมค่อนข้างแรงได้ดี มีประสบการณ์การติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในพื้นที่ใกล้เคียงทั้ง ญี่ปุ่นและไต้หวัน มีอุปกรณ์ Vibro-hammer ช่วยให้ติดตั้ง Monopile อีกทาง ตอนนี้เอ็กโกพยายามปิดช่องว่างทั้งหมด ประเมินสภาพอากาศวันต่อวัน และต่อสัญญาเรือไว้ล่วงหน้าเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินถึงสิ้นปี

ปีนี้นอกจากลุ้นโครงการ Yunlin แล้ว โครงการอื่นๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อ เตรียมงบลงทุนไว้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมแล้วจะมีกำลังผลิตใกล้ๆ 8,000 เมะวัตต์ โดยจะเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ในปี 2573 จะมีสัดส่วนการผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 30% จาก 21% หรือ 1,440 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

ปี 67 เอ็กโกจะปิดดีลโครงการใหม่ในรูปแบบ M&A อีก 2-3 โครงการ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินโครงการใหม่เอ็กโกไม่เอา แต่โครงการเก่าที่ยังผลิตได้ก็ต้องต่อสัญญากันไปก่อน จากโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ที่จะหมดสัญญาในเดือนพฤษภาคม ปี 2568 ซึ่งเอ็กโกมั่นใจว่าได้ต่อสัญญาไปอีก 10 ปี และอีกธุรกิจที่เอ็กโกกำลังปั้น ก็คือ บลูไฮโดรเจน ถึงขนาดตั้งบอร์ดมาเดินเครื่องเรื่องนี้ และส่งคนไปเจรจากับพันธมิตรอย่างจริงจัง ทั้งหมดทั้งมวลต้องรอให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโกคนใหม่มาสานงานต่อไป ที่คาดว่าจะเป็น “ดร.จิราพร ศิริคำ” รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่องซึ่งรักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าฯกฟผ.มาพักหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ปัจจุบัน EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) มีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ คิดเป็น 21% ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีโรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา และยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ และเติบโตเร็ว ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “TPN” โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง “ERIE” บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “Innopower” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “Peer Power”

ในการแถลงข่าวสุดท้ายที่เอ็กโกเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา “เทพรัตน์” เริ่มให้สัมภาษณ์แบบคนมองในภาพใหญ่เตรียมการปรับภาพปรับมุมเป็นผู้ว่าฯกฟผ.ในอีกไม่กี่เดือนว่า “ยังไงเสียความต้องการใช้ไฟฟ้า มีแต่จะเพิ่มขึ้น ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรๆ ก็เป็นไฟฟ้า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าที่ตลาดจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ”

เขา บอกอีกว่า นักลงทุนใหญ่ๆ วิ่งเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าหมด เมืองไทยหายห่วงพีคเพิ่มขึ้นทุกปีแน่นอน ทั้งอากาศร้อนและเศรษฐกิจโต ดังนั้นเขาจึงมองว่า สำรองไฟฟ้าที่ว่ามากล้นเกินนั้น อีก 1-2 ปีก็ไม่พอใช้แล้ว อีกอย่างมีโรงไฟฟ้าปลดระวางด้วย ที่สำคัญโรงไฟฟ้าหลักต้องทำหน้าที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรองเป็น buffer ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น ดังนั้นการมีสำรองไฟฟ้าก็เท่ากับทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพเข้าระบบได้มากขึ้นตามไปด้วย

จากนี้…คงต้องรอฟังแถลงนโยบายแบบเร่งสปีด เพราะมีเวลาจำกัดในช่วงรับตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกฟผ.” ของ “เทพรัตน์”กันอีกหนเร็วๆ นี้

………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย.. ”สัญญา สายัณ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img