วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแบ่งเค้กรัฐบาลป่วน-ไม่โรยด้วยกุหลาบ! “พท.”ฝ่าแรงบีบ“พรรคร่วมรัฐบาลเดิม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แบ่งเค้กรัฐบาลป่วน-ไม่โรยด้วยกุหลาบ! “พท.”ฝ่าแรงบีบ“พรรคร่วมรัฐบาลเดิม”

แม้การโหวตสรรหานายกรัฐมนตรีจะยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน แต่ก็เริ่มมีข่าวปล่อยเล็ดลอดออกมาว่า รัฐบาลที่มี พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ ซึ่งมีมติผลักดัน “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. เป็นนายกฯ โดยจะปิดดีลที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นพรรคสุดท้าย รวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 315 เสียง

ประกอบด้วย พรรค พท. 141 เสียง, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง, พรรค รทสช. 36 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง, พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง, พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.), พรรคพลังสังคมใหม่, พรรคท้องที่ไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคละ 1 เสียง

เริ่มมีการเจรจาแบ่งสัดส่วนเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม) กันแล้ว ตามจำนวน สส.ของแต่ละพรรคเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการระบุ “กระทรวง” โดยภาพรวม พรรค พท.จะดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด อาทิ คลัง คมนาคม-พาณิชย์-เกษตรและสหกรณ์-พลังงาน รวมถึงกระทรวงด้านสังคมคือ มหาดไทย-ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นต้น

ทำเนียบรัฐบาล / cr : Surachet Watcharravisit

การแบ่งรัฐมนตรีเบื้องต้น จะเป็นสัดส่วนดังนี้ พรรค พท. 16 เก้าอี้, พรรค ภท. ได้รองนายกฯ รมว. 4 เก้าอี้ รมช. 4 เก้าอี้, พรรค พปชร.จะได้ รองนายกฯ รมว. 2 เก้าอี้ รมช.3 เก้าอี้, พรรค รทสช. จะได้ รมว.2 เก้าอี้ รมช.2 เก้าอี้ ขณะที่พรรค ชพน. และพรรค ปช. จะได้ รมว.พรรคละ 1 เก้าอี้ โดยใช้สูตร สส. 9 คน ต่อ 1 เก้าอี้

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการตั้งบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในส่วนพรรค ภท. คาดว่า จะดูแลงานสังคม และแนวโน้มจะได้ดูกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม และอาจได้เก้าอี้ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), รมว.อุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ รมว.วัฒนธรรม ขณะที่พรรค ชทพ. ยังยืนยันจะขอดูกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยให้ “วราวุธ ศิลปอาชา” นั่งเก้าอี้เดิม ส่วนพรรค ปช. คาดว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค จะเป็นรมว.ยุติธรรม

ทั้งนี้การต่อรองตัวกระทรวงยังไม่ลงตัวนัก โดยพรรค รทสช.ต้องการกระทรวงพลังงาน ที่พรรค พท.เองก็ต้องการ ซึ่งแคนดิเดต รมว.พลังงานของพรรค รทสช. คือ “ณอคุณ สิทธิพงศ์” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

ในส่วนของพรรค พปชร.นั้น ได้ 3 รมช. โดยคาดว่า 1 ในนั้นคือ “รมช.มหาดไทย” ซึ่งแนวโน้มจะเป็น “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรค ขณะที่ “สันติ พร้อมพัฒน์” รองหัวหน้าพรรค พปชร. คาดว่าจะได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ทส. แม้ว่า พรรค ชทพ.ต้องการเก้าอี้ รมว.กระทรวงนี้ และ “ตรีนุช เทียนทอง” จะดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการเช่นเดิม ส่วน “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. จะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จะควบตำแหน่งอะไรหรือไม่

โดยรายชื่อกระทรวงจะมีความชัดเจนหลังจากโหวตนายกฯเสร็จสิ้นลง ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องไปจัดตามความเหมาะสมและเงื่อนไขปัจจัยของและพรรคต่อไป จากการพูดคุยเป็นที่แน่นอนว่า บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะไม่มีชื่อของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค พปชร. รวมถึงจะไม่มีบรรดา “แกนนำ กปปส.” เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าว “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. ให้สัมภาษณ์โดยชูหลักการ “ห้ามพรรคเก่า-คุมกระทรวงเดิม” สอดรับการที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.ทส. ในฐานะหัวหน้าพรรค ชพน. ต้องการให้ตกลงเรื่องโควต้ารัฐมนตรี ก่อนการโหวตนายกฯ ก็มีแรงกระเพื่อมทางการเมืองเกิดขึ้นทันที

โดยมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่สนับสนุนพรรค พท. ในการจัดตั้งรัฐบาล และแคนดิเดตนายกฯของพรรคพท.เป็นนายกฯ ยื่นข้อเสนอต่อ “คณะผู้แทนจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท.” ต้องแบ่งกระทรวง ให้เป็นที่ยุติชัดเจน ก่อนการโหวตนายกฯ และ “ไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม”

แต่ให้พิจารณากระทรวงเดิมเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะทำงานได้ต่อเนื่อง และยังต้องการให้รัฐบาลใหม่ เร่งรัดนโยบาย แก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้หาก “พท.-เศรษฐา” ไม่รับเงื่อนไข มีความเป็นไปได้ จะขอให้เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกฯจาก พท. อีกคน ขึ้นมาเป็นนายกฯแทน 

นอกจากท่าทีของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมแล้ว ยังพบท่าทีจาก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางคน ก็ออกมาแสดงอาการ ยังไม่ยอมรับ “เศรษฐา” เพราะยังติดใจเรื่อง “คุณสมบัติ” และ “ลักษณะต้องห้าม” ในประเด็นต่างๆ อีกด้วย หลัง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์” จอมแฉชื่อดัง ออกมาแฉ “เศรษฐา” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ในยุคที่ยังบริหาร “บมจ.แสนสิริ”

เมื่อมีปมร้อนเกิดขึ้นทำให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรค พท. ต้องออกมาชี้แจง กรณีกระแสข่าวพรรคที่จะมาร่วมกับพรรค พท. ยื่นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล ต้องไม่ห้ามรัฐมนตรีนั่งกระทรวงเดิม หากมีขอให้เปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ว่า “ยังไม่ได้ยินพรรคใดประสานมาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ได้คุยกับหัวหน้าพรรคที่จะมาร่วมงานกับ พท. ไม่มีปัญหาที่รุนแรงในเรื่องนี้

ประเด็นที่ว่า นายเศรษฐาไปพูด ไม่ให้พรรคที่จะมาร่วมกับพรรค พท.ทำงานกระทรวงเดิม นายเศรษฐาไม่ได้พูดเป็นหลัก เป็นคำถามจากสื่อว่า หลักการไม่ควรให้นั่งกระทรวงเดิมหรือไม่ ซึ่งนายเศรษฐาพูดเพียงว่า หลักการดูดีเห็นชอบ แต่ต้องดูว่าการเชิญพรรคต่างๆ มาร่วม ต้องให้เกียรติและดูความเหมาะสม ไม่อยากให้ยึดติดอยากให้ดูนโยบาย คุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีปัญหาอะไรเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน หน้าที่ของพวกเราต้องประสานงานตั้งรัฐบาลให้ได้ แต่ประเด็นเหล่านี้ ต้องไปดูความเหมาะสม นโยบายตัวบุคคล คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เท่าที่คุยกับหัวหน้าพรรคหลักๆ

ตั้งใจว่าเมื่อเลือกนายกฯแล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานได้ในเดือนก.ย. คิดว่าประเด็นกระทรวงต่างๆ จะเสร็จสิ้นใกล้เคียงกับการโหวตนายกฯ ขอดูเวลาที่เหมาะสม”

คงต้องยอมรับว่า แม้ “พท.” จะเป็นแกนนำ มีเสียงห่างจากพรรคอันดับ 2 “ภท.” มากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากการโหวตเห็นชอบนายกฯ ต้องได้เสียง 375 เสียง ดังนั้นทุกคะแนนจึงมีค่า แม้กระทั่งการยอมดึง “พรรค 2 ลุง” ทั้ง “รสทช.” และ “พปชร.” ทำให้กองเชียร์จำนวนไม่น้อย “ไม่พอใจ” และแสดงออกด้วยการ “ต่อต้าน”

จึงต้องจับตามองว่า “การต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี” กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะมีความเข้นข้นและดุเดือดหรือไม่ ยิ่งมีหลายพรรคมาร่วมด้วย แต่ “พท.” ยังมั่นใจจะโหวตครั้งเดียวก็ผ่าน ได้เสียงเกิน 375 เสียงแน่ แม้จะมี “สว.บางคน” ตั้งแง่ กับการออกเสียงโหวตให้ “เศรษฐา” โดยอ้างว่า เป็นบุคคลที่มีตำหนิ

ชัยธวัช ตุลาธน

ขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีมติเอกฉันท์ “ไม่โหวต” แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. โดย “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค ก.ก. แถลงภายหลังการประชุม สส.พรรค ก.ก.ว่า ที่ประชุม สส.พรรคก.ก.มีวาระพิจารณาโหวตนายกฯ จากพรรคพท. โดยมีมติเอกฉันท์ว่า สส.ของพรรคก.ก. จะไม่โหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ ของรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วที่เกิดขึ้นอยู่ เพราะเราไม่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นในขณะนี้

โดยให้เหตุผลคือ 1.เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตนารมณ์และเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา 2.การจัดตั้งรัฐบาลนี้ ไม่ใช่การปิดสวิตซ์ สว. แต่เป็นการเดินตามความต้องการ สว.ในการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง และเป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมา สว.จำนวนมากและพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ต้องการปิดสวิตซ์พรรคก.ก.หลังการเลือกตั้ง และ 3.เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่เกรงใจผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ยกเว้นประชาชน และจะไม่สามารรถผลักดันวาระก้าวหน้าที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง  

ดังนั้นหนทางที่ “พท.” จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้หมายความว่า จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ต้องฝ่าฟัน “ขวากหนาม” และ “อุปสรรค” มากพอสมควร โดยเฉพาะ “การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี” แม้กระทั่ง “การได้เสียงหนุนจาก สว.”

ส่วนหนทางที่จะหวนไปจับมือกับ “ก.ก.” ก็คงทำไม่ได้ง่าย

ต้องรอดูว่า ต้นเดือนก.ย.นี้ จะได้เห็น “โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่” ตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คาดหวังหรือไม่!!!

……………………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img