วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“นายกฯเศรษฐา”คุม“มั่นคง-เศรษฐกิจ” ล่อเป้าฝ่ายค้านหรือนำรัฐนาวาฝ่ามรสุม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“นายกฯเศรษฐา”คุม“มั่นคง-เศรษฐกิจ” ล่อเป้าฝ่ายค้านหรือนำรัฐนาวาฝ่ามรสุม

เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการไม่ถึงสองสัปดาห์ ก็มีคิวต้องไปโชว์ตัวอย่างเป็นทางการในต่างแดน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 78 (The 78th UN General Assembly หรือ UNGA 78) ระหว่างวันที่ 18-26 ก.ย. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

พร้อมทั้งระบุ ถ้ามีโอกาสก็จะนำ โมเดลโคกหนองนา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเสนอในเวทียูเอ็นถึงภาพรวมของโครงการ เพราะแน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อง ความน่าภาคภูมิใจ ของคนไทยที่ต้องนำไปเสนอ คงต้องบอกว่า ภารกิจครั้งนี้ของหัวหน้ารัฐบาล จะถูก จับตามองเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นการโช์วตัวในต่างแดนเป็นครั้งแรก

ทั้งวิสัยทัศน์ในระหว่างขึ้นกล่าวบนเวทีสำคัญระดับโลก การมีโอกาสพบผู้นำชาติต่างๆ จะโชว์บทบาทที่เป็นน่าประทับใจ และจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศมากแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านั้นมีข่าว นายกฯจะนั่งควบเก้าอี้รมว.ต่างประเทศ  ก่อนที่จะเปลี่ยนใจมานั่งควบ “รมว.คลัง” ในที่สุด

เศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่ในการ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในระหว่างการหาเสียง “ลดราคาค่าพลังงานในทันที” คือ เห็นชอบ ลดค่าไฟฟ้า 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เริ่มรอบบิลเดือนก.ย. 66 เห็นชอบ ลดราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 ก.ย.66

แต่ที่นำมาสู่เสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และบรรดาข้าราชการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คือ การกำหนดให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ แบ่งเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่มวันที่ 1 ม.ค.67 เพราะสร้างความยุ่งยาก และมีผลต่อการตัดยอด หนี้เงินกู้จากสถาบันต่างๆ จนในที่สุด “เศรษฐา” ต้องยอมถอย โดยเปลี่ยนเป็นเพื่อ ความสมัครใจแทน

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติแต่งตั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เป็นสำคัญ โดยใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทาง ในการแก้ไขรธน.และ การทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วม ออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านั้น “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ประกาศว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรธน.

คำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ

อีกทั้ง “เศรษฐา” ยังได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ จำนวน 9 คน โดยในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกฯจึง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ เพื่อทำหน้าที่ ในการให้คำปรึกษา และ พิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

1.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา 2.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา 3.นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษา 4.นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษา 5.ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษา 6.นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษา 7.นายชลธิศ สุรัสวดี ที่ปรึกษา 8.นายชัย วัชรงค์ ที่ปรึกษา 9.นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ที่ปรึกษา

แต่ที่น่าสนใจคือ คำสั่งนายกฯ ที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ มีรายละเอียดดังนี้ 

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ กำกับดูแลงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ กำกับดูแลงานในส่วนของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นอกจากนี้ “ภูมิธรรม” ยังถือเป็น รองนายกฯคนที่ 1 หรือ “สร.2” ซึ่งจะ รักษาราชการแทนนายกฯ ในกรณีไม่อาจปฏิบัติราชการได้

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกฯ กำกับดูแลงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตสภา มีอำนาจกำกับดูแลงานสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  (ศอบต.)

“ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ กำกับดูแลงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กำกับดูแลงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

“พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กำกับดูแลงานกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

“พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลงาน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในคำสั่งแบ่งงาน ไม่มีการมอบหมายให้รองนายกฯคนใด ดูแลงานด้านความมั่นคง  ซึ่งจากเดิมการคาดหมายกันว่า อาจให้ “ภูมิธรรม” ช่วยดูแลงานด้านนี้ แต่เมื่อไม่ปรากฎเนื้อหาใดๆ ในคำสั่ง ทำให้เข้าใจได้ว่า “เศรษฐา” จะเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานดังกล่าวด้วยตนเอง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่แม้จะมอบหมายให้รองนายกฯ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม แต่ให้เว้น “ดีเอสไอ” เอาไว้ 

ซึ่งวันที่ 27 ก.ย. นายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะนัดประชุม ก.ตร. เพื่อแต่งตั้ง “ผบ.ตร.คนใหม่” ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวถือว่า มีความสำคัญ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ทั้งดูแลความสงบเรียบร้อยภายใน และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม และเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งบทบาทในการทำงานของ ตร. จะเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยตรง หลายครั้งก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง

ดูเหมือน พรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันให้ “เศรษฐา” โชว์ความสามารถทั้งใน เรื่องเศรษฐกิจ และ ความมั่นคง เช่นเดียวกับในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่ นายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็เป็นแม่ทัพทั้งด้านความมั่นคง และ เศรษฐกิจ ซึ่งในเรื่องเศรษฐกิจ 

หลายคนคงไม่มีใครปฎิเสธความสามารถของ นายกฯคนที่ 30 เนื่องจากประสบความสำเร็จ มาจากการบริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่งานด้านความมั่นคง คงมี คนตั้งคำถามเยอะ เพราะ “เศรษฐา” เพิ่งเข้าทำงานการเมืองเป็นครั้งแรก ไม่เคยสัมผัสงานด้านความมั่นคง จะรู้เส้นสนกลใน รวมถึง ระเบียบแนวทางปฏิบัติ และบุคลากรที่ดูแลงานด้านนี้หรือไม่ แม้จะมี ทีมปรึกษา และ คณะทำงาน ช่วยอยู่เบื้องหลัง     

อย่าลืมว่า ยิ่งแบกรับภาระงานหลายด้าน ความรับผิดชอบก็สูงตามไปด้วย หากเกิดปัญหาอะไรขึ้น กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายกับประเทศ ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทย รวมทั้งปัญหาความสงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งต้องประงานกับกองทัพได้ด้วย ซึ่งปัญหาความมั่นคงถือว่ามีความสำคัญ และมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ดังนั้นหากมีปัญหาเกิดขึ้น “เศรษฐา” เลี่ยงไม่ได้ที่จะตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้า “พรรคเพื่อไทย” ก็คงหวังกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่าง “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ซึ่งคงไม่ปล่อยให้รัฐบาลทำงานอย่างราบรื่นแน่ๆ ยิ่งพรรคเพื่อไทยช่วงชิงบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปต่อหน้าต่อตา แค้นนี้คงไม่มีวันลืม

คงต้องรอดูว่า “เศรษฐา” จะ แบกรับภาระอันหนักอึ้ง ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะมีอนาคตของตัวเองเป็นเดิมพัน รวมทั้งพรรคเพื่อไทยก็ฝากอยู่ในมือของนายกฯคนที่ 30 ระหว่างเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” กับ “แม่ทัพ” ที่สามารถนำพา “รัฐนาวา” ให้ไปจนตลอดรอดฝั่ง สุดท้ายบทสรุปจะจบลงอย่างไร

………………………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img