วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”ฉบับ“ก.ก.”ส่อแท้ง เหตุมุ่งแค่ล้างผิด“คนติดคดีมาตรา 112”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”ฉบับ“ก.ก.”ส่อแท้ง เหตุมุ่งแค่ล้างผิด“คนติดคดีมาตรา 112”

จับท่าทีพรรคการเมืองต่างๆ ต่อแนวทางการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ฉบับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คงต้องบอก หนทางในการผลักดันกฎหมาย ที่เคยทำรัฐบาลในอดีต…ต้องล้มครืนแล้ว คงยากเย็นแสนเข็ญพอสมควร หรืออาจไม่มีไม่ทางเป็นไปได้

หลายคนเชื่อว่า เป้าหมายของพรรคสีส้ม ต้องการล้างผิดให้เครือข่าย ที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา  112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ล่วงละเมิดสถาบัน และบางคนที่มีข้อหาติดตัวอยู่ โดยเนื้อหาในมาตรานี้ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

แม้กระทั่งท่าที “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ซึ่งเคยจับมือเป็นพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสีส้ม ยังไม่ตอบรับ เหมือนกับการไม่ร่วมสนับสนุน ในช่วงแถลงการณ์ร่วมกัน ให้กำหนดเรื่องการผลักดันกฎหมายล้างผิดเอาไว้  เพราะกลัวคงกลัว ภาพหลอนในอดีต เนื่องจากสมัย “เพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล เคยผลักดันปมร้อน โดนสอดไส้เนื้อหา ให้บุคคลที่มีข้อหาทุจริตคอรัปชั่น และคดีอาญาร้ายแรงไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว ท่ามกลางวลีของใครบางคน ที่บอกกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า “ผมอยากกลับบ้าน

และในที่สุด รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องมีอันเป็นไป เพราะมีประชาชนเรือนล้านเรือนแสนออกมาชุมนุม  ร่วมกับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คัดค้านการออกกฎหมายล้างผิดฉบับสุดซอย

ชูศักดิ์ ศิรินิล

จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ส.ส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทน ซึ่งเป็นมือกฎหมายคนสำคัญพรรคแกนนำรัฐบาล ออกมาให้ความเห็นถึงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯว่า ในส่วนของเพื่อไทย ยังไม่ได้มีการหารือกันว่า สมควรจะยื่นร่างกฎหมายประกบหรือไม่ เพราะความคิดเห็นของพรรค ยังมีความหลากหลาย หากพูดถึงนิรโทษกรรม อาจดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยจะตกเป็นจำเลยในอดีต อย่าให้ร่างกฎหมายนั้นไปสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น

“แม้ร่างของพรรคก้าวไกลจะมีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยคดีได้เข้าหลักเกณฑ์ เช่น จะรวมคดีอะไรบ้าง มาตรา 112 เอาไหม 113 เอาไหม 114 เอาไหม คดีชุมนุมทางการเมืองรวมถึงอะไรบ้าง ควรจะพูดเรื่องนี้กันให้จบ ให้ตกผลึก ไม่เช่นนั้นนำเข้าไปพิจารณาจะเป็นปัญหาความขัดแย้ง แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ขณะนี้จะต้องนำไปหารือกันในพรรคว่าควรจะดำเนินการอย่างไร” ชูศักดิ์กล่าว

รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นก้าวแรกของการหยุด “นิติสงคราม” ว่า โดยหลักการความขัดแย้งหากยุติลงได้ ก็เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่จะต้องตอบคือ ยุติลงจริงหรือไม่ หรือจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น เรื่องนี้ต้องคิดให้ดีให้รอบคอบ

ถ้าลองสแกนเนื้อหาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับส้มหวาน เนื้อหาที่สำคัญระบุว่า

1.กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.49 หรือวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงวันที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งมีการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

3.กลไกในการนิรโทษกรรม กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม โดยในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชุดนี้ของพรรคก้าวไกล ได้เสนอให้มีจำนวน 9 คน โดยให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) บุคคลที่ สส. เลือกอีก 2 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน นอกจากนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้น

จะมีองค์ประกอบที่มาจากผู้พิพากษา หรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จำนวน 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอในที่ประชุมใหญ่ของประธานศาลฎีกา และมาจากตุลาการ หรืออดีตตุลาการในศาลปกครองอีก 1 คน มาจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง และส่วนสุดท้ายคือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้านั้น “พรรคก้าวไกล” ดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” จะยึดในตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งมี “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก อดีตสมาชิกพรรคทำหน้าที่อยู่มากกว่า แต่ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็เปิดทางให้ “หมออ๋อง” ย้ายพรรค เพื่อให้หัวหน้าพรรคเข้าไปรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯได้ ซึ่งก็คือ “ชัยธวัช ตุลาธน” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค หรือการตัดสินใจรับตำแหน่งดังกล่าว เพื่อต้องการผลักดันกฎหมายสำคัญ เพราะสามารถรวมเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิด เพื่อการนิรโทษกรรมได้

ซึ่งในระหว่างการเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล ยื่นกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อ “วันมูฮะหมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะนิรโทษกรรมฯให้กับคดี 112 ด้วยใช่หรือไม่ “ชัยธวัช” กล่าวว่า ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏ ล้มล้างการปกครอง และเปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัย เพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน เพราะรู้สึกเสียดายที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งตั้งโดยนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ทำรายงานเสร็จแล้ว แต่เสร็จในปลายสมัย จึงไม่มีโอกาสได้นำเสนอในสภา ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดต่างๆ ก็มีข้อเสนอในลักษณะนี้ เช่นเดียวกับในเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง

นั่นหมายความว่า เป้าหมายหลักของพรรคก้าวไกล มุ่งล้างความผิด ให้กับคนที่กระทำความผิดตามมาตรา 112

ยิ่งช่วงนี้เริ่มเห็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความผิดในข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน ทยอยถูกศาลพิพากษาจำคุก อย่างล่าสุด “อานนท์ นำภา” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ ก็ถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา อีกทั้งยังไม่ได้รับการประกันตัว เพราะศาลเกรงว่าจะหลบหนี

ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา “อานนท์” ได้จัดงานเลี้ยงอำลา ซึ่ง “ชัยธวัช” ก็ไปร่วมงานด้วย ในช่วงที่ผ่าน “อานนท์” ไปร่วมกิจกรรมกับ “ม็อบสามนิ้ว” อย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ การปฏิรูปสถาบัน ให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 

นอกจากนี้ยังมีส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มีข้อกล่าวหาล่วงละเมิดสถาบันติดตัวอยู่ด้วยคือ “ไอซ์-รักชนก ศรีนอก” สส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษา 14 ธ.ค.นี้ หลังเลื่อนการอ่านมาจากวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะอยู่ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ

คนที่ 2 “ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว” สส.ปทุมธานีอดีตแกนนำแนวร่วมม็อบสามนิ้ว ที่ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญาเช่นกัน แต่คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน

คนที่ 3 “โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ” สส.กทม.-อดีตหัวหน้าการ์ดม็อบสามนิ้ว ที่ถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 3 คดี 

นอกจากนี้แกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่มีส่วนสนับสนุนพรรคก้าวไกล ทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ก็มีชนักติดหลังในคดีมาตรา 112 เช่นเดียวกัน

ม.112 / cr : @thaksinofficial

ในส่วนของ “ปิยบุตร” ถูกแจ้งข้อกล่าวหาโพสต์เฟซบุ๊กปี 2565 ในเรื่อง “ปฏิรูปสถาบัน” ซึ่งคดีอยู่ในชั้นอัยการ แต่คดีเลื่อนนัดฟังคำสั่งมาหลายรอบ ล่าสุดนัดในวันที่ 24 ต.ค.นี้ว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือจะเลื่อนออกไปอีก ส่วน “ธนาธร” เป็นจำเลยจากคดีไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน” ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบพยาน

ก่อนหน้านั้น นักเคลื่อนไหวสามนิ้วที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน สมาชิกพรรคก้าวไกลมักจะเข้าไปช่วยเหลือเรื่องคดีความ ใช้สถานะสส. ช่วยประกันตัวมาโดยตลอด นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อ้างเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับประชาชนดีขึ้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายเชื่อว่า การผลักดัน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ” ฉบับก้าวไกล เพื่อต้องการล้างผิดให้คนติดคดีมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายและพวกเดียวกัน คงทำให้การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ยากที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ยังไม่รวมถึงต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย แม้พรรคก้าวไกลจะเสนอให้พรรคการอื่น เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯประกบด้วยก็ตาม

ราเมศ รัตนะเชวง

อีกทั้ง “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน ยังออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก้าวไกล โดยให้ความเห็นว่า “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้เป็นเจ้าของร่างกฎหมายดังกล่าว ยืนยันแล้วว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันชัดเจนว่า แม้เราเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล แต่เราไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เราไม่เห็นด้วยกับการล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำผิด ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ตาม เราจะต้องศึกษารายละเอียดอื่นๆในร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย

เมื่อผู้สื่อขาวถามว่า ขณะนี้เริ่มมีข้อครหาว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมไปถึงผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องการช่วยเหลือแนวร่วมของพรรคก้าวไกล “ราเมศ” กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ว่าจะเป็นยุคใด มักเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และผู้ที่ยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยให้รวมถึงผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย เขามีเล็งเห็นถึงประโยชน์ ที่พรรคของเขาจะได้รับอยู่แล้ว มิฉะนั้นเขาคงไม่เสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่รัฐสภา

นอกจากนี้ “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ซึ่งเคยยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ สมัยที่ผ่านมา เรียกว่า ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….. ยังออกมาให้เห็นว่า การที่พรรคก้าวไกล ไม่ให้นิรโทษกรรมในมาตรา 113 คนที่โดนไปเต็มก็คือ แกนนำกปปส. ที่โดนฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญามาตรา 113 ในข้อหากบฎ

นั่นหมายความว่า พรรคก้าวไกลมีวาระซ่อนเร้นเลือกปฏิบัติ หวังกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน   มุ่งเป้าหวังช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อนพ้อง ไม่ได้ต้องการแก้ไขความขัดแย้ง ตามที่อ้างใช้เป็นเหตุผลไว้จริง อีกทั้งยังมีแนวคิดแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้นหนทางที่ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ” จะแท้งก่อนคลอด มีโอกาสสูงเหลือเกิน

………………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img