วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐา”ปลุก“คนหนุน”ต้าน“คนค้าน” แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นเข้าสู่“เดดโซน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐา”ปลุก“คนหนุน”ต้าน“คนค้าน” แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นเข้าสู่“เดดโซน”

เป็นสัญญานไม่ดีจริงๆ หลังมีข่าวที่ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้สำนักงานป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท

โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าฯธปท.ท้วงติงมาหรือไม่

“นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นว่า เบื้องต้นในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่า โครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่ จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยัง ครม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้

นิวัติไชย เกษมมงคล

“หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว

เมื่อพูดถึง โครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) คงออกอาการร้อนๆ หนาวๆ หากย้อนไปสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำโครงการดังกล่าวมาเป็น “ธงนำ” ในการช่วยเหลือชาวนา แต่ในที่สุดเมื่อมีการนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ ฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้นำข้อมูลมาเปิดโปงตรวจพบการทุจริต จนเรื่องถูกนำเข้าสู่กระบวนยุติธรรม ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุกนักการเมืองและข้าราชการประจำหลายคน 

รวมถึงยังส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์” น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร ต้องกลายสภาพเป็นนักโทษหนีคดี เพราะถูกศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และในที่สุดอดีตนายกฯก็ตัดสินใจเดินทางหลบหนีไปต่างประเทศ ใช้ชีวิตต่างแดนมาจนถึงวันนี้ กลายเป็น “ตราบาปพรรคเพื่อไทย” เช่นเดียวกับความพยายามผลักดัน “พ.รบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ที่ล้างผิดทั้งคดีทุจริตและคดีอาญาร้ายแรง จนนำมาสู่การต่อต้านของประชาชนเรือนแสน จึงเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยคงไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ก่อนหน้านั้นช่วงต้นเดือนต.ค. “วิรไท สันติประภพ” และ “ธาริษา วัฒนเกส” 2 อดีตผู้ว่าฯธปท. ร่วมลงชื่อพร้อมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยมีนักวิชาการและคณาจารณ์คณะเศรษฐศาสตร์ 99 คน ก่อนที่จะมีผู้ลงชื่อเพิ่มอีกรวม 130 คน เช่น รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าธปท., รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าธปท., รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ทีดีอาร์ไอ, โดยให้เหตุผลอย่างเช่น

1) เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 66 และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.3 นับว่าสูงสุดในรอบ 20 ปี สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี

คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออก นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคช่วงนี้ อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์สูงขึ้น นำไปสู่สภาวะขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2) เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาส การใช้เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังเกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ

ส่วน “ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวด้วย และมีส่วนรวมในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ได้ออกมาให้ความเห็นว่า “ดูแล้วมีการขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะ “ลุยไฟ” ไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลยโครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่า “ลุยไฟ” เลย คือหากอยากจะทำ ก็ทำ แต่รับรองเลยว่า มีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกันว่า จะติดคุกหรือไม่อย่างไร”

ด้าน “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯธปท. ซึ่งมีบทบทสำคัญดูแลระบบการเงินประเทศ ก็ออกมาให้ความเห็นถึงนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่า “ถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่างๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่าย ภาพรวมหนี้ การขาดดุลต่างๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลัง ที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้”

ขณะที่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.66 ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน “สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นนักวิชาการขอให้วินิจฉัย พร้อมส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) หรือศาลปกครอง เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว

นั่นหมายความว่า นอกจากต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากป.ป.ช.แล้ว เรื่องอาจถูกนำเข้าสู่องค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะศาลรธน. ซึ่งถ้าหากวินิจฉัยในประเด็นอะไร ก็ต้องถือว่าเป็นที่สิ้นสุด มีผลผูกพันธ์กับทุกองค์กร ยิ่งรัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่า จะใช้งบงบประมาณจากไหน ขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือ พ.ร.บ.เงินตราหรือไม่   

อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่โอนเงินดิจิตัล 10,000 บาท เข้าระบบ “แอปเป๋าตัง” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย ซึ่งจัดทำไว้แล้ว ทำไมถึงต้องไปสร้างระบบใหม่ กับการแจกเงินจำนวน 5.6  แสนล้านบาท ซึ่งมีข่าวจะใช้ “โทเคน” ซึ่งคาดว่าว่าใช้งบประมาณไม่ใช้น้อย ต้องมีบริษัทที่เข้ามาสร้างระบบ หากพบมีความเกี่ยวข้องกับ “ผู้มีอำนาจในรัฐบาลใหม่” จะกลายเป็นประเด็นใหญ่

เศรษฐา ทวีสิน

ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลกเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ในระหว่างที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะใช้ห้วงเวลาสำคัญระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ซึ่งมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยนายกฯจะใช้เวทีนี้พูดถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลว่า…

“สำหรับดิจิทัล วอลเล็ต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมติวันที่ 1 ก.พ.67 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ได้คนละหมื่นบาท บ้านไหนมี 3 คน 5 คน เอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่ามีประโยชน์มากแค่ไหน และเงินที่ได้ไปใช้ในกทม.ไม่ได้ ต้องใช้ในเขตที่ท่านอยู่ จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว ซึ่งมีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย กับคนที่ไม่เห็นด้วย”

นายกฯ ระบุต่อว่า แต่เรารับฟังความคิดเห็น เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน รับฟังแล้วปรับให้ดีให้เป็นนโยบายที่โดนใจทุกคน คิดดูวันที่ 1 ก.พ. มีเงิน 5.6 แสนล้านเข้าไปในระบบ ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะเตรียมสินค้าออกมารองรับหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มหรือไม่เงินจะอยู่ในกระเป๋าประชาชนมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร 

“ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วย โดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบ ก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง เรื่องลดค่าไฟค่าน้ำมันต้องพูด อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ท่านต้องออกมาพูดว่า ท่านมีความสุขดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็เป็นคนเหมือนกัน ต้องการขวัญและกำลังใจเหมือนกัน บางคนที่มาด้วยกันวันนี้ก็อยากอยู่บ้าน แต่วันนี้เข้าใจปัญหาประชาชนก็มารับฟังปัญหา เราไม่ได้มาหาเสียงแต่เรามาทำงานจริง” นายกฯกล่าวย้ำ

ต้องถือ “เศรษฐา” เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว เพราะเลือกใช้รูปแบบ เหมือนนักเลือกตั้งทั่วไป เวลามีเสียงคัดค้านในเรื่องอะไร ก็ปลุกประชาชน ที่อยากได้นโยบายรัฐบาล ออกมาส่งเสียงสนับสนุน ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงกับการสร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม หากมีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน นโยบายแจกเงินดิจิทัล รวมถึงท่าทีบรรดานักวิชาการ และผู้รู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าว

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ด้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายกฯเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้าน การคัดค้านนโยบายแจกเงินให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตว่า ถ้ารัฐบาลเอาเงินไปแจก คนส่วนใหญ่ก็รับ ไม่ต้องไปส่งเสียงให้เขาออกมาสนับสนุน แต่รัฐบาลต้องบอกด้วยว่า เงินที่จะนำมาแจกนั้น เป็นเงินของประเทศ เป็นเงินที่ประชาชนจะต้องแบกรับภาระร่วมกันในอนาคต ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายเศรษฐา

“การปลุกประชาชนที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายที่เห็นต่าง จึงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการปลุกประชาชนให้ออกมาชนกัน และเป็นเหมือนกับการนำประชาชนมาเป็นโล่มนุษย์ กำบังความรับผิดชอบประชานิยมในอนาคตให้กับพรรคการเมืองและรัฐบาลด้วย ซึ่งคนมีวุฒิภาวะไม่ควรทำ” จุรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ได้ออกแถลงข่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าทำแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเฝ้ารอและจำเป็นต่อการปลุกเศรษฐกิจไทยให้โต 5% หลังต้องเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 2% มายาวนาน

“ในวันที่ 12 ต.ค.ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาหารือความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการจากนั้น 19 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการเป็นครั้งที่ 2 หารือก่อนเข้าชุดใหญ่ และวันที่ 24 ต.ค.เสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ มีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร เป็นการตัดสินใจชุดใหญ่ ซึ่งหากไม่มีอะไรจะได้ข้อยุติแน่นอน” รมช.คลังกล่าว

นั่นหมายความว่า เดือนต.ค.จะเห็นความชัดเจนทั้งหมด ของ “นโยบายแจกเงินดิจิทัล” ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายแรกของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ถูกคัดค้านมากที่สุด ดังนั้นถ้าหากเดินหน้าเต็มสูบ จะต้องรอดูว่า จะมีผลประโยชนซ่อนเร้น สร้างความเสียหายให้กับประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับหรือไม่ อีกทั้งองค์กรอิสระก็ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบแล้ว ได้แต่หวังว่าโครงการนี้จะไม่ซ้ำร้อย “โครงการรับจำนำข้าว” ที่เคยสร้างวิบากรรมให้กับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

……………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย… “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img