วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSวิวาทะว่าด้วย“น้ำมัน”..อย่าแค่หาเสียง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วิวาทะว่าด้วย“น้ำมัน”..อย่าแค่หาเสียง

พลันที่ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอนโยบาย “น้ำมันประชาชน” โดยเสนอลดราคาน้ำมันเบนซินประมาณลิตรละ 18.07 บาท น้ำมันดีเซลปรับลดประมาณลิตรละ 6.37 บาท หากเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีคนออกมาให้ความเห็นมากมาย

“พิชัย ณริพพันธุ์” อดีตรมว.พลังงานและรองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ออกมาท้าทันทีว่า “เป็นแค่การขายฝันเพื่อหาเสียง การที่คุณมิ่งขวัญประกาศลดราคาดีเซลลงลิตรละ 6 บาท และจะลดราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 18 บาท จึงไม่น่าเป็นไปได้”

ขณะที่คนในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันอย่าง “สนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์” อดีตรมว.พลังงาน ก็เขียนเฟซบุ๊ก พร้อมทั้งอรรถาธิบายรายละเอียด เช่น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ แต่ควรแก้ที่โครงสร้างทั้งระบบ และยังบอกว่า หากยุบกองทุนน้ำมันจะส่งผลกระทบตามมามากมาย ชาวบ้านที่ใช้ก๊าซหุงต้มจะเดือดร้อน รวมถึงการยกเลิกภาษีสรรพสามิตจะกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐ  

สนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์

นอกจากนี้ “สนธิรัตน์” ยังเสนอโครงสร้างราคาน้ำมันที่เหมาะสมโดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก เป็นในส่วนภาครัฐ  ในการลดภาษี หรือลดการเก็บเงินเข้ากองทุนควรหาจุดสมดุล ลดแล้วต้องไม่กระทบฐานะการคลัง และต้องชำระหนี้สินกองทุนน้ำมันได้ ส่วนที่สอง ภาคเอกชนควรลดกำไรที่เกินสมควร ที่ได้จากโครงสร้างบิดเบือนและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

ดูเหตุดูผลแล้ว ข้อเสนอของ “สนธิรัตน์” น่าจะเป็นทางสายกลางและค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร ไม่สุดโต่ง ข้างใดข้างหนึ่ง

อันที่จริงเรื่องที่ “มิ่งขวัญ” เสนอไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เมื่อคราวเลือกตั้งปี 62 ก็เคยเสนออย่างนี้มาครั้งหนึ่ง และกลุ่มเอ็นจีโอ.ก็เคยเสนอคล้ายๆ กัน แค่แตกต่างในรายละเอียด แต่ในวิธีคิดของ “มิ่งขวัญ” นั้น เป็นการเสนอ “ลด” ภาษี และ “ยกเลิก” มาตรการบางอย่าง

อย่าลืมว่า ธุรกิจน้ำมัน นั้น มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ปัญหา “แบบชั้นเดียวเชิงเดียว” ต้องเข้าใจต้นตอทำให้ราคาน้ำมันในประเทศแพง เพราะ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” ในบ้านเราสลับซับซ้อน โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆดังนี้

ส่วนแรก “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” ที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ตรงนี้คนสงสัยกันมากว่า ในเมื่อเรานำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ณ.โรงกลั่นในบ้านเรา ทำไมต้องไป “อ้างอิงราคา ณ.โรงกลั่นสิงคโปร์” ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มเนื่องจากมีการ “บวกค่าใช้จ่ายเทียม” อย่างค่าขนส่งทางเรือค่าประกันภัยและค่าอื่นๆ เข้าไป ถามว่าเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่

ในกรณีนี้ อาจจะอ้างอิงราคาสิงคโปร์ได้เพื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ไม่ควรจะคิดเป็นต้นทุนเพราะไม่มีอยู่จริงทำให้บริษัทน้ำมันได้ประโยชน์เต็มๆแต่ประชาชนต้องควักกะเป๋าจ่ายเต็มๆเช่นกัน

หัวฉีดน้ำมันในปั้ม

ส่วนที่ 2 เป็น “ค่าภาษี” และ “เงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ” ที่รัฐบาลเรียกเก็บ มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ในส่วนของภาษีประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล หรือ “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” และภาษีมูลค่าเพิ่ม เบ็ดเสร็จภาษีที่ต้องจ่ายน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนช้า อัตราลิตรละ 0.25 บาท ส่วนน้ำมันก๊าดและน้ำมันเตา อัตราลิตรละ 0.07 บาทเท่ากัน

มีข้อน่าสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลต้องเก็บภาษีซ้ำซ้อนอีก ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีการเก็บทุกขั้นตอนที่มีการซื้อขาย ทำไมไม่เก็บเฉพาะภาษีที่จำเป็นจริงๆ ตรงนี้รัฐควรจะทบทวนมาตรการเก็บภาษีประเภทใดประเภทหนึ่ง หรืออาจจะ “ลดอัตราภาษี” แต่ละประเภทลงก็ได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล เพราะภาษีเป็นเครื่องมือในการนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ

ขณะเดียวกันยังจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” อ้างว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน โดยคิดไปว่าหากน้ำมันราคาถูก คนจะใช้ฟุ่มเฟือย จึงต้องทำให้ราคาสูงๆ โดยหักเงินค่าน้ำมันเข้ากองทุน คนจะได้ใช้น้ำมันอย่างประหยัด เป็น “ตรรกะวิบัติ” และยังมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” อ้างว่าเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ต้องบอกว่า กองทุนน้ำมัน เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองและปรัชญาที่ผิดๆ ที่คิดว่า หากราคาน้ำมันถูกมากๆ คนใช้เยอะ และตอนนี้การเมืองใช้กองทุนน้ำมันในการหาเสียง เช่น ไปอุดหนุนพืชบางตัวในพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนน เช่น มันสับปะหลัง ปาล์ม เป็นต้น แต่หากคิดจะยกเลิกคงยาก เพราะกองทุนน้ำมัน ตอนนี้ติดหนี้ กว่าแสนล้านบาท หากจะเลิกต้องหาเงินล้างหนี้ให้ได้ก่อน  

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดเก็บเงินนำส่งทั้ง 2 กองทุนนั้น คนไทยยังกังขาใน “ความโปร่งใส” ประชาชนไม่เคยได้รับรู้ว่า ในแต่ละวันเข้ากองทุนน้ำมันเท่าไหร่ ออกเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าตัวเลขที่เปิดเผย…จริงหรือเท็จ

ราคาน้ำมัน อ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นสิงค์โปร์

ที่สำคัญ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เป็นที่ร่ำลือว่า เป็น “แหล่งผลประโยชน์” ของ “กลุ่มคนบางกลุ่ม” ที่เอาโครงการอนุรักษ์พลังงานมาบังหน้า จะว่าไปแล้ว กองทุนอนุรักษ์พลังงาน “ควรจะยุบที่สุด” ไม่ได้มีประโยชน์กับประชาชน เพราะเป็นแหล่งกอบโกยของ “นักการเมือง” หรือ “ผู้มีอำนาจ” ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รวมถึง “บริษัทเอกชนด้านพลังงาน” ที่ร่ำรวยกันอู้ฟู่ เพราะรัฐเอาเงินส่วนนี้เข้าไปอุดหนุนผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ยังมี ต้นทุนส่วนที่ 3 เป็น “ค่าการตลาด” ของผู้ประกอบการ หรือปั๊มน้ำมัน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่หน้าปั๊ม ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ อันนี้เป็นส่วนที่หลายคนอาจจะคลางแคลงใจบ้าง ว่าสูงไปหรือไม่ แต่ก็ยังพอรับได้

นี่คือ เบื้องหลังที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเรา สูงกว่าที่ควรจะเป็น และสูงกว่าหลายๆ ประเทศที่โครงสร้างราคาน้ำมันไม่ซับซ้อน

ฉะนั้นถึงเวลาที่ต้องทบทวนการจัดเก็บภาษีน้ำมันในอัตราปัจจุบันอย่างจริงจัง และกองทุนน้ำมันบางกองทุน  อย่าง “กองทุนอนุรักษ์พลังงาน” ยังมีประโยชน์อีกหรือไม่ ซึ่งควรจะต้องยุบทิ้งได้แล้ว แม้กระทั่ง “ค่าการตลาด” ที่ดูเหมือนไม่สูงมาก แต่เมื่อเทียบกับปริมาณที่ใช้ในแต่ละปี ทำให้บริษัทน้ำมันมีกำไรมหาศาล ก็ควรต้องทบทวนเช่นกัน

การที่ “มิ่งขวัญ-พิชัย-สนธิรัตน์” ออกมาแสดงความเห็น ถือว่าเป็นวิวาทะที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ดีและต้องหา “จุดสมดุล” ที่ลงตัวให้ได้ ไม่ใช่…เป็นแค่เครื่องมือหาเสียงแล้วเงียบ!!!

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img