วันเสาร์, พฤษภาคม 11, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSวิกฤติความเชื่อมั่น..“120 วันเปิดประเทศ” ฝันสลาย!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วิกฤติความเชื่อมั่น..“120 วันเปิดประเทศ” ฝันสลาย!!!

พลันที่รัฐบาลลุงตู่ “พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน ก็มีความเห็นต่างๆ นานา ในฝั่งที่เห็นด้วยและสนับสนุนให้เปิด จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ออกแรงหนุนแบบสุดตัว

แต่พวกไม่เห็นด้วยก็มีประชาชนไม่น้อย ที่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตพุ่งสูงปรี๊ดทุกวัน

ดูเหมือนรัฐบาลจะฟังเสียงธุรกิจเป็นหลัก จึงทำทุกวิถีทางที่จะผลักดันเปิดประเทศภายใน 120 วันให้ได้ตามสัญญาโดยจะเริ่ม “คิ๊กออฟ” นับหนึ่งในวันที่ 1 ก.ค.ซึ่งตรงกับวันที่นำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โมเดล” จึงต้องเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดขนานใหญ่ ด้วยการออกคำสั่ง “ปิดแคมป์” คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบฉุกละหุก

cr : @prbangkok

รัฐบาลออกประกาศบ่ายวันศุกร์ แต่จะมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ ทำให้คนงานพากันตื่นตกใจ หนีออกจากแคมป์ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ เมื่อมาตรการปิดแคมป์เอาไม่อยู่ จึงต้องใช้ไม้เด็ดประกาศ “ล็อคดาวน์แบบลักหลับ” กลางดึกคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา

ความผิดพลาดในการประกาศปิดแคมป์ เกิดจากคิดไม่ทะลุโดยคิดว่า “ปิดแล้วจบ” แต่กลายเป็นว่า “ปิดแล้วเจ็บ” เพราะมาตรการกึ่งล็อคดาวน์แบบไม่ให้ผู้ประกอบการได้ตั้งเนื้อตั้งตัว จะมีต้นทุนมหาศาล ทั้งต่อการบริโภค การลงทุน การก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่รายได้เท่านั้น แต่จะกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจ การจ้างงาน และรายได้ครัวเรือน และผลกระทบอาจจะไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่คงมีผลกระทบเป็นแผลเป็นถาวรแบบกู่ไม่กลับกันเลยทีเดียว

ความผิดพลาดครั้งนี้ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลน้อยอยู่แล้ว ยิ่งลดลงไปอีก อาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศใน 120 วัน แม้แต่ “โมเดลภูเก็ตแซนด์บอ็กซ์” ที่ทดลองนำร่องไปก่อน ก็ทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะนักธุรกิจในพื้นที่ยืนยันว่า ยังไม่มีความพร้อม อีกทั้งหลายฝ่ายเริ่มขาดความเชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิดระบาด

หาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ต้องล่ม ย่อมส่งผลให้แผนการเปิดประเทศของ “ลุงตู่” ใน 120 วันก็เป็นได้แค่ฝันกลางวัน และหากทำไม่ได้ตามสัญญา ย่อมหมายความว่า “ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล” ก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก

อันที่จริงฝันของ “ลุงตู่” ที่จะเปิดประเทศคงเป็นไปได้ยาก สะท้อนจากผลสำรวจความเห็นประชาชนจากสวนดุสิตโพล ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 58 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ ขณะที่นิด้าโพล ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 42.94 ไม่เชื่อมั่น มีเพียงร้อยละ 6.94 เท่านั้น ที่เชื่อมั่น และประชาชนร้อยละ 69.19 เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ มากกว่าเศรษฐกิจ

ภูเก็ต

หากรัฐบาลจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมา จะต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่องดังต่อไปนี้ให้เร็วที่สุด มิเช่นนั้นจะเสียทั้งเวลาและต้นทุนประเทศอย่างมหาศาล

ข้อแรก คือรัฐบาลจะเร่งในการตรวจหาเชื้อ และเร่งเพิ่มความสามารถในการสอบสวนโรค รวมทั้งแยกคนติดเชื้อ ออกจากสังคมโดยเร็วที่สุด

ข้อสอง รัฐต้องเร่งการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเร็ว เพราะวัคซีนเป็นทางออกสำคัญที่จะหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ

ข้อสาม รัฐควรมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และตัดสินใจด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ธุรกิจรายเล็กรายย่อย ไปจนถึงภาคประชาชน เพื่อเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่น ที่สำคัญรัฐต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถวางแผนชีวิตและธุรกิจได้

ข้อสุดท้าย รัฐบาลจะต้องหาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ อันเนื่องมาจากการสั่งปิดเมือง ซึ่งสร้างผลกระทบมหาศาลโดยเร่งด่วนและเหมาะสมที่สุด ยิ่งมาตรการมีผลบังคับใช้เวลานาน จะสร้างผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะทนไม่ไหว จะส่งผลต่อการไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และภาคธุรกิจ

อย่าลืมว่า “ความเชื่อมั่น” คือยาขนานเอกในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ถ้าผู้นำหรือรัฐบาลทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นักธุรกิจก็กล้าลงทุน ประชาชนก็กล้าจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนต่อไปได้

………………………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img