วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เปิดประเทศ”...เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เปิดประเทศ”…เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

นับถอยหลังเหลืออีกแค่สัปดาห์เดียวก็จะถึงวันดีเดย์ “เปิดประเทศ” ในวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ตามที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้เมื่อ 120 วันที่แล้ว

และเมื่อเร็วๆนี้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล จะออกมายืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจ อีกครั้งว่า…

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว โดยขยายผลและพลิกโฉมการท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวน 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 5,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท”

ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า ฝันหวานไปหน่อย ถามว่าเรามีความพร้อมหรือยัง พร้อมแค่ไหน แม้จะอุ่นใจบ้างที่ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 แบบรายวันของไทยจะลดน้อยลง แต่ก็ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับหลักหมื่นคน แต่การระดมฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเปิดเมือง เมื่อเงื่อนไขคือ ต้องฉีดวัคซีนครบโดส 70 เปอร์เซ็นต์ หรือราวๆ 50 ล้านคน ถือว่ายังห่างไกลจากความเป็นจริงพอสมควร

ประกอบกับเมื่อเร็วๆ นี้สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น. ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ได้ออกมาเตือนว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่าง “ไทย-เวียดนาม-มาเลเซีย” ที่กำลังจะ ทิ้งนโยบาย ‘ปลอดโควิด’ โดยหันมาใช้นโยบาย ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะทำเช่นนั้น และยังไม่ควรเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ศบค. กลับมีมติให้เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม 10 จังหวัดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ตามที่มีการประกาศออกไปแล้วว่า มีจังหวัดไหนบ้าง ซึ่งทั้งหมดเป็นเมืองท่องเที่ยว

อันที่จริงรัฐบาลก็อยู่บนทางสองแพร่งระหว่างเรื่อง “สุขภาพ” กับ “เศรษฐกิจ” แต่ตอนหลังเป็นเพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก “มาตรการล็อคดาวน์” ก่อนหน้านี้เสียหายหนักจนฝืนต่อไปไม่ไหว จึงยอมเสี่ยงเปิดประเทศโดยมี “สุขภาพประชาชน” เป็นเดิมพัน

แต่อย่าลืมว่า ตอนที่รัฐบาลตัดสินประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วันนั้น คนไทยเพิ่งจะติดเชื้อแค่ 2 พันกว่าคน มีผู้เสียชีวิตแค่ 41 คนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งกระฉูด ล่าสุดก็ยังแตะๆ หมื่นคน และอาจจะทะลุหมื่นคนอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ยังถือว่ายังอยู่ในโซนอันตราย

งานนี้ถ้าเศรษฐกิจไม่หนักหนาสาหัสจริง “ลุงตู่” คงไม่กล้าดันทุรังเปิดประเทศท่ามกลางความหวาดวิตกของหลายๆ ฝ่ายแน่ๆ แม้แต่นักธุรกิจในวงการท่องเที่ยวเอง ยังตั้งคำถามว่า “เราพร้อมหรือยัง” จะได้คุ้มเสียหรือไม่

อย่างที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลทดลองเปิดประเทศมาแล้วในโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และสมุย พลัส (สมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า) จำนวนนักท่องเที่ยวสองเดือนแรกที่เข้าเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ต ไม่ถึง 5% ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ซึ่งเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่ เล่าให้ฟังว่า ตัวเลขจริงๆ นั้น ต่ำกว่าตัวเลขที่ทางการเปิดเผยมาก ซึ่งตัวเลขที่โชว์ออกสื่อนั้น “ปั้นตัวเลข” ขึ้นมา โรงแรมหลายแห่งในพื้นที่ก็ไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยว เพราะไม่คุ้มค่าน้ำ-ค่าไฟ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มีใครอยากเข้ามาติดเงื่อนไขเยอะ ต้องตรวจ ATK สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งไม่มีแหล่งกินดื่มอีกต่างหาก

ชุดตรวจ Antigen Rapid Test Kit / cr : @gpoth.official

แต่รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ทั้งๆ ที่ต้องแลกกับต้นทุนและการเสียสละของชาวภูเก็ตมหาศาล เนื่องจากทุกวันนี้คนภูเก็ตต้องติดเชื้อโควิด-19 วันละกว่า 200 คน โดยเฉลี่ยหากจะให้คะแนน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ก็ต้องบอกว่า “สอบตก”

เป็นที่น่าสังเกตุตั้งแต่ “ลุงตู่” ประกาศเปิดประเทศ มีเพียงกระทรวงท่องเที่ยวฯเท่านั้น ที่กระตือรือร้นผลักดันจะเปิดให้ได้ขณะที่ หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงมหาดไทย กลับ “ไม่รู้ร้อนรู้หนาว”

แม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเอง ก็ยังไม่แน่ใจว่าถ้าเปิดจริงๆ รัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดในระดับที่ชาวต่างชาติมั่นใจ และกล้าเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้หรือไม่ เชื่อว่ายังไงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา คงไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้แน่ๆ

ที่สำคัญ ถ้าเปิดประเทศแล้วเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา มีคนติดเชื้อเพิ่มหลายหมื่นคน จนถึงขั้น “ปิดประเทศ” ใหม่อีกรอบ แบบเข้มข้นและนานกว่าเดิม บรรดานักธุรกิจจะรับได้หรือไม่ และรัฐบาลจะกล้าออกมารับผิดชอบหรือไม่

แต่ไหนๆ ก็จะเดินหน้าเปิดให้ได้แล้ว รัฐควรจะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ แม้จะเข้าทางใครในเรื่องการจัดสรรโควต้าวัคซีนก็ตาม และจะต้องมีมาตรการรองรับแบบเข้มข้นกว่าปกติ เช่น ควรจะต้องมี “ดัชนี” เป็นตัวชี้วัดว่า เมื่อถึงจุดไหนควรหยุดหรือปิดประเทศทันที เช่นกำหนดตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องเป็นเท่าไหร่, ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลเท่าไหร่ และมีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่

เหนือสิ่งใด…บุคลลากรทางการแพทย์, โรงพยายาบาล และโรงพยาบาลสนาม ต้องมีเพียงพอและทันท่วงที เรียกว่า “ความพร้อม” ต้องมากกว่าทุกวันนี้หลายเท่า มิเช่นนั้นการเปิดประเทศ อาจเสียมากกว่าได้

……………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img