วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“รัฐบาล”ซื้อเวลา...“ดิจิทัล วอลเล็ต” กับ“ทางที่เหลืออยู่”…หากจะเข็นต่อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รัฐบาล”ซื้อเวลา…“ดิจิทัล วอลเล็ต” กับ“ทางที่เหลืออยู่”…หากจะเข็นต่อ

เป็นไปตามคาด สำหรับผลการประชุม คณะกรรมนโยบายเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือ “บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตฯ” ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่สุดท้ายก็ “ซื้อเวลา” ออกไปอีกอย่างน้อยร่วมๆ 45 วัน หรืออาจมากกว่านั้น เพื่อเซฟตัวเอง

เพราะไม่อยากเร่งเดินหน้า แล้วเสี่ยงจะเจอปัญหาภายหลัง หลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)-สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แม้ไม่ถึงกับห้าม แต่ก็ไม่ได้ถึงไฟเขียว การันตีความปลอดภัย หากรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาแจกประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท

เมื่อไม่มีเสียงเห็นด้วยแบบเต็มร้อย จากกรรมการคนสำคัญ เช่น “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯธปท. ซึ่งที่ผ่านมา ก็แสดงท่าทีมาตลอดว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และกับท่าทีระหว่างการประชุมบอร์ดดิจิทัลฯ ที่ผ่านมา ซึ่งตัวนายกฯ บอกเองว่า…

“ผู้ว่าฯธปท. เพิ่งเห็นรายละเอียดจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและ ป.ป.ช.ในวันนี้ ก็ขอเข้าไปพิจารณาศึกษาก่อน ซึ่งยืนยันว่า ได้ให้ผู้ว่าฯธปท.ไปศึกษาให้เต็มที่ และพิจารณาตามข้อเท็จจริง ถ้าหากมีข้อสังเกตการณ์หรือมีข้อเสนอแนะอะไรให้บอกมา เป็นการประชุมในวงกว้าง และไม่มีการตัดความเห็นหรือข้อเสนอแนะของใคร ซึ่งได้มีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วน แต่เนื่องจากข้อมูลของ ป.ป.ช.เพิ่งมาถึงมือ และหลายข้อมูลเป็นข้อมูลลับ ซึ่งนำมาเปิดเผยในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งหลายท่านก็ขอนำไปศึกษาก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการทุกท่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ครบถ้วน เพราะเป็นนโยบายสำคัญ”

พบว่า ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตฯในวันดังกล่าว เลือกที่จะ “ซื้อเวลา” ผ่านการมีมติตั้ง คณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาและข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และยังตั้ง คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ อีกด้วย

จากท่าทีของบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่ได้มีมติเดินหน้าใดๆ ออกมาเมื่อ 15 ก.พ. แต่ใช้วิธีให้กรรมการแต่ละคนไปศึกษาเอกสารของกฤษฎีกาและป.ป.ช.และตั้งคณะทำงานสำคัญสองชุดข้างต้น

จับอาการได้ว่า กรรมการเสียงส่วนใหญ่คง “แหยงๆ” หากจะรีบเดินหน้า เลยเลือกที่จะ “ซื้อเวลา” บอกขอเวลาสักพัก กลับจะไปศึกษาเอกสารก่อน

จุดนี้ มองให้รอบด้าน มันมีเหตุมีผล กับการที่กรรมการแต่ละคน ที่ล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ เมื่อเพิ่งเห็นเอกสารตัวจริงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอบข้อซักถามของรัฐบาลถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีใครเห็นเอกสารฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับเอกสารของสำนักงานป.ป.ช. ที่เป็นผลสรุปของคณะทำงานศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตฯ ชุด “สุภา ปิยะจิตติ” อดีตป.ป.ช.เป็นประธาน

มองอย่างเป็นกลาง มันก็ถูกต้องที่กรรมการแต่ละคน จะต้องขอเวลาไปศึกษาก่อน กับเอกสารทั้งหมด ทั้งของกฤษฎีกาและป.ป.ช. ที่ดูแล้วก็ร่วมเกือบสองร้อยหน้า เพื่อความรอบคอบในการจะร่วมตัดสินใจ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตฯไปกับรัฐบาล ที่อาจจะเจอความเสี่ยงได้ในอนาคต หากเกิดปัญหาขึ้น

ซึ่งเผลอๆ ในใจของ “เศรษฐา” และ “แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย” อาจถอนหายใจโล่งอกก็ได้ ที่อย่างน้อยการซื้อเวลาออกไปร่วมๆ 45 วัน จะได้ทำให้ “รัฐบาล” มีเวลาคิดหาทางออกอื่น สำหรับการจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป แม้จะรู้ดีว่า ถึงตอนนี้ยากมากที่จะเข็นออกมาได้

ประเมินได้ว่า เส้นทางความเป็นไปของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตอนนี้เหลือแค่ 3 ทางหลักๆ เท่านั้น

หนึ่ง-เดินหน้าเข็นให้บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตฯ มีมติให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายดังกล่าว ด้วยการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาทำโครงการ จากนั้นก็ให้กระทรวงการคลังเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้าครม.และสภาฯ ตามลำดับ จนผ่านวาระแรกของสภาฯ ถึงตอนนั้น หากร่างพ”ร”บ.กู้เงินดังกล่าวสะดุดลง เช่นไปโดนศาลรัฐธรรมนูญตีสกัด จนออกเป็นกฎหมายไม่ได้ “เพื่อไทย” ก็จะอ้างว่าทำดีที่สุดแล้ว ทำสุดทางแล้ว แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญขวาง ขอให้ประชาชนเข้าใจ

สอง-ปรับเงื่อนไขการแจกเงิน โดยไปแจกให้กับเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย-คนจน  โดยใช้ฐานคนที่เคยลงทะเบียนนโยบาย “บัตรคนจน” สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นฐาน และอาจให้มีการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากปรับเป็นเงื่อนไขแบบนี้ จะทำให้ลดแรงต้าน และลดความเสี่ยงไปได้มาก ทำให้จะได้แรงหนุนจากบอร์ดดิจิทัลที่ไม่ได้มาจากสายนักการเมือง อีกทั้ง “สภาฯ-วุฒิสภา” ก็ย่อมเห็นด้วยและสนับสนุนเพราะเป็นการช่วยเหลือคนจน คนมีรายได้น้อย ส่วนงบฯที่ใช้ ก็มาจากการออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงินฯเช่นเดิม ซึ่งถ้าปรับเป็นแบบนี้ จะใช้งบประมาณที่มีการประเมินกันว่าเต็มที่ ก็น่าจะแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ลดไปได้ร่วม 4 แสนล้านบาท อีกทั้งก็จะได้คะแนนเสียงในระดับหนึ่งว่า “รัฐบาลช่วยเหลือคนจน”

สาม-แจกให้กับกลุ่มเปราะบาง แบบแนวทางที่สอง แต่ใช้วิธีตั้งงบประมาณทำนโยบายไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่จะเริ่มทำประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมายกู้เงินฯ ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงด้านข้อกฎหมายและลดแรงต้านไปได้เกือบหมด ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้ง “บอร์ดดิจิทัล-ครม.-ส.ส.-สว.” สบายใจ พร้อมจะสนับสนุน

ส่วน “รัฐบาลเพื่อไทย-บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต” จะเลือกทางไหน คงต้องรอดูช่วงที่การซื้อเวลาของบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ใกล้จะหมด โดยเมื่อถึงตอนนั้น ยังไงก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

เพราะถ้ายังซื้อเวลาต่อไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายหากไปต่อไปไม่ได้ จะยิ่งทำให้ประชาชนที่รอเงินหนึ่งหมื่นบาทแบบมีความหวัง จะยิ่ง “หัวร้อน” ขึ้นไปอีก จนส่งผลต่อ “เรตติ้งคะแนนนิยมทางการเมือง” ของ “รัฐบาลเพื่อไทย” แน่นอน

…………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img