วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“ผู้เสพคือผู้ป่วย” ทางออกสังคมในวัน “ยา”เกลื่อนเมือง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ผู้เสพคือผู้ป่วย” ทางออกสังคมในวัน “ยา”เกลื่อนเมือง?

หลายคน อาจตั้งคำถามจากเหตุกราดยิง 37 ศพที่หนองบัวลำภู โดยฝีมือตำรวจนอกราชการ ที่มีประวัติพัวพันกับยาเสพติด ว่านโยบายป้องกันและปราบปรามของภาครัฐในตอนนี้ เหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่กำหนดให้ “ผู้เสพยาคือผู้ป่วย” จะเป็นทางออกสังคมไทยจริงหรือไม่

ได้มีความคิดเห็นจากตำรวจที่ทำงานจับกุมคดียาเสพติดและต่อสู้กับผู้วิกลจริตจากการเสพยา สะท้อนปัญหายาเสพติดในวันนี้ว่า ปัญหาใหญ่ๆในการปฏิบัติงานตำรวจและปกครองและสาธารณสุขคือ ในเวลานี้คือ

1) ไม่มีสถานที่บำบัดตามกฎหมายเพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติด ที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ป่วย

2) รพ.จิตเวชของรัฐมีไม่เพียงพอรับรักษาผู้วิกลจริต ทั้งจากบุคคลิกหรือจากยาเสพติด และเลือกรับเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชบางประเภทที่เฉพาะเจาะจง และจำกัดจำนวนน้อยมาก

3) เมื่อตำรวจหรือปกครองจับกุมตัวมา เมื่อคลุ้มคลั่งหรือขาดยาก็ต้องนำส่งโรงพยาบาลในท้องที่ ที่ไม่มีสถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดหรือผู้วิกลจริตที่มีอาการหนัก

ดังนั้น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง สาธารณาสุข อสม. ญาติ ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ต้องเฝ้าระวังคนติดยาเสพติดและผู้วิกลจริตเอง หายาบำบัดให้กินกันเอง ซึ่งอาจประสบปัญหารักษาได้ไม่ตรงอาการ ดังนั้น จึงเกิดปัญหาผู้ติดยาเสพติดและคนวิกลจริต เดินในหมู่บ้าน ชุมชนที่พร้อมจะคลุ้มคลั่งก่อเหตุเดินเต็มบ้านเต็มเมือง พร้อมจะก่อเหตุสะเทือนขวัญได้ทุกเมื่อ

ป.ป.ส.ย้ำแนวคิดผู้เสพคือผู้ป่วยตามหลักสหประชาชาติ

ขณะที่ “วิชัย ไชยมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยถึงเหตุกราดสลดที่หนองบัวลำภูว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว เพราะคนร้ายมีอาการทางจิตที่มาจากฤทธิ์ยาเสพติด สาเหตุการก่อความรุนแรงอาจมีปัจจัยอื่นประกอบ ซึ่งการวินิจฉัยต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ควบคู่กับผลการตรวจพิสูจน์ร่างกาย อย่างไรก็ตามการกระทำรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังชี้แจง แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่มาจากประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ มีฐานคิดจากการประชุม United Nations General Assembly Special Session on the World Drug Problem (UNGASS 2016) ของสหประชาชาติที่กำหนดแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ โดยแบ่งแยกการลงโทษผู้ค้ากับผู้เสพอย่างชัดเจน

สำหรับผู้ค้าต้องลงโทษอย่างรุนแรง ขณะที่ผู้เสพต้องได้รับการรักษา เป็นที่มาของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” โดยตามกฎหมายยังกำหนดโทษชัดเจนสำหรับผู้เสพ แต่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัดจะไม่ต้องรับโทษ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผิดพลาดได้กลับคืนสู่สังคม โดยการแบ่ง ผู้ค้า กับ ผู้เสพ ดูที่พฤติการณ์เป็นสำคัญ ไม่ใช่จำนวนยาเสพติด

เปิดยอดผู้ป่วยรับการบำบัดปีละ 2 แสนคน

ส่วนผู้ที่เสพยาเสพติด 200,000 คนต่อปี ที่เข้ารับการบำบัด ซึ่งมีจำนวนมากที่สามารถรักษาหาย เลิกยาเสพติดได้ ซึ่งการยกเลิกนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยจะเป็นการตัดโอกาสของผู้ที่ผิดพลาดเสพยาเสพติด โดยกรณีผู้ที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ควรจะมีการแยกออกเพื่อควบคุม โดยอาจเป็นการใช้เทคโนโลยีในการติดตาม หรือกำหนดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อให้อยู่ในการควบคุม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

“วิชัย” ย้ำว่าแนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” คือ การให้โอกาสผู้ที่เคยผิดพลาดได้มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นนโยบายที่ต้องปรับให้ทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติใช้กฎหมายนี้ก็ต้องสอดคล้องกัน

โดยต้องมีการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งการป้องกันในเด็กและเยาวชน การป้องกันกลุ่มเสี่ยง การปราบปรามนักค้ายาเสพติด รวมทั้งกระบวนการบำบัด การดูแลหลังการบำบัดรักษา เพื่อให้การเกิดวงจรการกลับมาเสพซ้ำเกิดขึ้นน้อยที่สุด

“สธ.” ย้ำความพร้อมรับบำบัดผู้เสพยาเสพติด

“นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข

มีผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล

ปี 2652 จำนวน 263,834 ราย
ปี 2563 จำนวน 222,627 ราย
ปี 2564 จำนวน 179,619 ราย มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ

ส่วนใหญ่เป็นการบำบัดผู้เสพยาบ้า มากกว่า 75% ในทุกปี และยังมีผู้เสพยาเสพติดอีกส่วนหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมควบคุมประพฤติ ซึ่งการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด เป็นไปตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการบำบัดรักษา เปลี่ยนทัศนคติของสังคม สร้างแนวคิดที่ว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ควรเข้าถึงการบำบัด”

กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการรองรับการบำบัดรักษา มีระบบการส่งต่ออย่างไร้รอยต่อ ใช้กลไกบำบัดรักษาแบบสมัครใจเป็นหลักในการบริหารจัดการและแก้ปัญหายาเสพติด โดยขยายการบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ในรูปแบบการจัดตั้งคลินิก และหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม

ดึงชุมชนดูแลผู้เสพยา บำบัดให้หายขาด

เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติด ได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง และเมื่อรับการรักษาแล้ว มีระบบกลไกติดตามเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเจ้าหน้าที่ในทุกระดับให้ความรู้เรื่องการบำบัดรักษาเสพติด และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลติดตาม รวมทั้งมีการให้ชุมชนมีส่วนช่วยในการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และ สายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือผ่านช่องทาง Line Official ‘ห่วงใย’ เพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา และสามารถเข้าบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญารักษ์ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

…………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img