วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE2 เดือน“โศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู” ย้อนดูนโยบายรัฐ“ป้องปรามอาวุธปืน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

2 เดือน“โศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู” ย้อนดูนโยบายรัฐ“ป้องปรามอาวุธปืน”

นับเป็นเวลา 2 เดือนเต็มกับ โศกนาฎกรรมสังหารหมู่ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2565 เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น โดยน้ำมือ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ไปพัวพันกับยาเสพติดจนถูกไล่ออกจากราชการ ทำให้มีเด็กและผู้ใหญ่ เสียชีวิตรวมถึง 37 คน เป็นเด็กถึง 24 ราย บาดเจ็บอีกนับ 10 ราย

หลังเกิดคดีสะเทือนขวัญ รัฐบาลมีคำสั่งเร่งปราบปรามยาเสพติด รวมถึงกวาดล้างอาวุธปืนอย่างจริงจัง ทั้งปืนเถื่อน และปืนที่อยู่ในครอบครองของอดีตข้าราชการ เพื่อล้อมคอกไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมซ้ำรอยอย่างเช่นคดีที่เกิดขึ้นนี้

หากนับดู 2 เดือนเต็มผ่านไป รัฐบาลมีคำสั่งป้องกันและปราบปรามในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เริ่มจากการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2565 มีดังนี้

1.กรณีมาตรการเพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์

ถือเป็นการรับรองว่าผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน โดยปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการพิจารณาหามาตรการ ในการดำเนินการในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้มีอำนาจในการออกเอกสารใบรับรองแพทย์ด้านสุขภาพจิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งอาจไม่มีจิตแพทย์ในพื้นที่

2.กรณีมาตรการกำหนดให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปีนต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้างที่ผ่านมา ในทางปฏิบัตินายทะเบียนท้องที่ใด้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตนำหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง มายื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ด้วย

กรณีมาตรการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาต กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือกำชับไปยังนายทะเบียนท้องที่ โดยให้เข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต และกรณีที่ตรวจสอบหรือมีข้อมูลว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตอาจขาดคุณสมบัติในการขออนุญาต กรณีมีและใช้อาวุธปืน นายทะเบียนจะต้องดำเนินการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว

เร่งหาทางควบคุมปืนเถื่อน 80% ในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งกำหนดให้ดำเนินการเรียกเก็บและขึ้นทะเบียนอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต (ปืนเถื่อน) เนื่องจาก สถิติการก่ออาชญากรรมในปัจจุบัน พบว่า มีการใช้อาวุธปืนเถื่อนในการก่ออาชญากรรมร้อยละ 80 ดังนั้น หากรัฐสามารถนำอาวุธปืนเถื่อนมาขึ้นทะเบียน จะสามารถควบคุมอาวุธปืนเหล่านั้นให้อยู่ในระบบได้

กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฉบับที่ .. พ.ศ.

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ มีหลักการสำคัญให้ประชาชนที่ครอบครองอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นำมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและอยู่ในความควบคุมของรัฐ

ส่วนกรณีอาวุธปืนที่ไม่สามารถอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ตามกฎหมาย ให้ประชาชนผู้ครอบครองส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้อยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐ โดยทั้งสองกรณีจะได้รับการยกเว้นโทษ

ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง

สตช.แจงปี 2565 ออกใบพกพาปืน 750 ราย

ด้านผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อที่ประชุมว่า การขอใบอนุญาตมีอาวุธปืนติดตัวเพื่อพกพาไปในที่สาธารณะ บุคคลที่ประสงค์จะยื่นคำขอใบอนุญาตดังกล่าวจะต้องไปยื่นคำขอต่อ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

กระบวนการพิจารณาอนุญาตจะเริ่มจากการตรวจสอบประวัติของผู้ยื่นคำขออนุญาตในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประวัติการต้องหาคดีอาญา ประวัติการเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง และยาเสพติด พฤติการณ์ด้านความมั่นคง ความประพฤติการประกอบอาชีพ และเหตุผลความจำเป็นในการขอใบอนุญาต

จากนั้นจะเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยบุคคลที่ผ่านการพิจารณาแล้วจะต้องนำอาวุธปืนไปยิง เพื่อเก็บกระสุนและรับใบอนุญาตต่อไป

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2564 มีผู้ใด้รับใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน จำนวน 1,105 ราย (ประชาชน 151 รายและข้าราชการ 944 ราย) ส่วน ในปี พ.ศ. 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีผู้ได้รับใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน 750 ราย เป็นประชาชน 127 ราย และข้าราชการ 623 ราย

นอกจากนี้ ผู้แทนหน่วยงานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ข้อมูลปืนขึ้นทะเบียน 6 ล้านคาดปืนเถื่อน 24 ล้านกระบอก

1.จำนวนอาวุธปืนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายในปัจจุบัน

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมต่อที่ประชุมว่า ข้อมูลอาวุธปืนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายในปัจจุบันมีจำนวน 6,135,423 กระบอก (เมื่อคำนวนปืนเถื่อนในประเทศ 80% จะมีปืนเถื่อนในประเทศไทยกว่า 24 ล้านกระบอก)

2.มาตรการควบคุมการจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืน จำนวน 503 ราย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้มีคำสั่งจำกัดจำนวนอาวุธปืน ที่ผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืนจะสามารถสั่งซื้อมาเก็บในคลังสินค้าได้ต่อ 1 ใบอนุญาต คือ อาวุธปืนสั้น จำนวน 30 กระบอก และอาวุธปืนยาวจำนวน 50 กระบอก ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี

สตช.ห่วงใช้แบลงค์กันดัดแปลงใช้กระสุนจริง

ขณะที่ข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อห่วงกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน ดังนี้

1) ปัจจุบันมีการนำสิ่งเทียมอาวุธปืนชนิดปืนแบลงค์กัน (Blank Guns) ไปทำการดัดแปลงลำกล้องให้สามารถใช้กับกระสุนปืนจริง และนำไปใช้ในการก่อเหตุอาชญากรรม จึงควรมีมาตรการควบคุมสิ่งเทียมอาวุธปืนดังกล่าวที่เข้มงวดมากขึ้น

2) กรณีมีการขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน

ควรให้เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการยิงตรวจสอบกระสุนปืน และเก็บปลอกกระสุนปืน เพื่อส่งให้สำนักงานตำรจแห่งชาติ ใช้เป็นหลักฐานในการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบปลอกกระสุนปืนของกลาง ซึ่งจะเป็นการป้องกันมิให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนนำอาวุธไปใช้ในการก่ออาชญากรรม

3) ควรกำหนดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ไว้ในร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืนฉบับใหม่

ด้านผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมการปกครอง ได้จัดตั้งศูนย์เก็บอัตลักษณ์หัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ประจำภูมิภาคต่างๆ 9 ศูนย์ และจัดตั้งศูนย์ส่วนกลาง ไว้ที่กรมการปกครอง 1 ศูนย์

ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืนฉบับใหม่ ได้เสนอให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์หัวกระสุน และปลอกกระสุนปืน ของอาวุธปืนทุกกระบอกไว้ด้วย

……………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img