วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกNEWSจับสัญญาณตลาดโลกฟื้น ส่งออกไทยปี’ 64 กลับมาสดใสขยายตัว 4.5%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับสัญญาณตลาดโลกฟื้น ส่งออกไทยปี’ 64 กลับมาสดใสขยายตัว 4.5%

‘’ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’’ แนะจับสัญญาณตลาดโลกฟื้น ส่งออกไทยปี’ 64 กลับมาสดใสขยายตัวราว 4.5% เหตุจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว อานิสงส์ต่อภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2564 กลับมาเติบโตสดใสร้อยละ 4.5 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 3.5-5.5) ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนกลับมาเติบโตดีกว่าตลาดอื่นๆ

ขณะที่การส่งออกสินค้าในภาพรวมก็ดีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ สินค้า IT ถุงมือยาง สามารถเติบโตได้ต่อจากปีก่อน สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าคงทนต่างก็กลับมาขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อ รวมทั้งแรงหนุนด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง

สัญญาณบวกดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ในระยะสั้น เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันอาจไม่เอื้อให้สินค้าไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทยราวร้อยละ 40 ล้วนพึ่งพานักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ICs ไดโอดและ HDDs ที่เป็นสินค้าสร้างรายได้ของไทยในขณะนี้กำลังสูญเสียความได้เปรียบในการผลิตยิ่งท้าทายโอกาสเปิดรับเม็ดเงินลงทุนใหม่

เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างหน้า จึงกลับมาสู่โจทย์สำคัญในการยกระดับการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยกระดับทั้งโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ก็ยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำต่อไป

ตัวเลขส่งออกที่น่าจะกลับมาสดใสในปีนี้อาจสร้างได้แค่ความอุ่นใจในระยะสั้น เพราะส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากฐานที่ต่ำและเป็นจังหวะที่สินค้าไทยยังสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในเวลานี้ได้จึงทำให้ภาพการส่งออกของไทยในปี 2564 กลับมาเติบโตได้ที่ราวร้อยละ 4.5 (กรอบประมาณการร้อยละ 3.5-5.5) แต่โจทย์หลักของไทยคงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง

นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง) อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม

รวมทั้งการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริงก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img