วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWSนายกฯจับมือประธานาธิบดีเยอรมนี แถลงความร่วมมือยกระดับความสัมพันธ์สองประเทศ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นายกฯจับมือประธานาธิบดีเยอรมนี แถลงความร่วมมือยกระดับความสัมพันธ์สองประเทศ

นายกฯ แถลงข่าวร่วมประธานาธิบดีเยอรมนี เปิดศักราชใหม่สู่เป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกัน ก่อนนายกฯ เยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการมีนาคมนี้

วันนี้ (25 มกราคม 2567) เวลา 11.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
 
การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนีในรอบ 22 ปี ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดใน EU ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)
 
โดยในการหารือทั้งสองได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
 
การเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย โดยในระหว่างการพบกับภาคเอกชน นายกฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Landbridge โครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย Ease of Doing Business และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยภาคเอกชนแสดงความสนใจในด้านงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ซึ่งไทยพร้อมพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป
 
ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย โดยไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2566 กว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย
 
โดยในเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังมีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจะไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้มในวันพรุ่งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นโอกาสเปิดศักราชความสัมพันธ์และความร่วมมือ นำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิด เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในทุกมิติอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในห้วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img