วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกNEWS“ชูศักดิ์”แจง 4 เหตุผลยื่นศาลฯชี้ขาดตั้ง“ส.ส.ร.-ทำประชามติ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ชูศักดิ์”แจง 4 เหตุผลยื่นศาลฯชี้ขาดตั้ง“ส.ส.ร.-ทำประชามติ”

“ชูศักดิ์” ร่ายยาวแจงเหตุยื่นศาลรธน.วินิจฉัย “แก้รธน.ม.256” เปิดช่องตั้ง ส.ส.ร.-ทำประชามติ 2 ครั้งได้หรือไม่ ยก 4 เหตุผลจำเป็น วอนรัฐสภาร่วมสนับสนุน ด้าน “พริษฐ์” เบรกญัตติเพื่อไทย ชี้เป็นการยื่นดาบให้ กลุ่มขวางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชี้ขาดแทน ลั่นร่างฯฉบับ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ไม่ขัดคำสั่ง4/64 หวังปธ.รัฐสภาทบทวนบรรจุกลับไปใหม่ เปิดช่องรื้อกติกาประเทศ

วันที่ 29 มี.ค.2567 เวลา 12.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายชูศักดิ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ตนและ สส.พรรคเพื่อไทยรวม 123 คน ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (1) และ (2) เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ .. พ.ศ…. โดยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้มีหนังสือถึงตนว่าประธานรัฐสภาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 จึงมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 211 วรรคสี่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา ประกอบกับประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 63 ข้อ 119 จะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้เสนอญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อดำเนินการต่อไปตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (2) และ (8) นั้น เท่ากับประธานรัฐสภาเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว แต่ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 (2) การเสนอญัตติของตนและคณะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แล้ว จึงชอบที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยเหตุผล 1. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มบัญญัติหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไปเท่านั้น มิใช่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ใช้แทนแทนรัฐธรรมนูญ 60 แต่อย่างใด 2.การบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 63 ข้อ 119 3. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน เนื่องจากไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะบัญญัติถึงวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทำนองเดียวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้นำเสนอ ทั้งนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงถือเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 (2) ดังนั้นการที่ประธานรัฐสภาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการทำประชามติเพียง 2 ครั้ง สำหรับประชามติครั้งแรกศาลรัฐธรรมนูญระบุเพียงว่าหากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องออกเสียงประชามติก่อนบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา หรือก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้นการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ปฏิเสธไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้นำเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เท่ากับอ้างว่าบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมไม่ได้ และรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ หากยังไม่มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเช่นนั้นเลย และหากถือตามความเห็นของประธานรัฐสภาจะเป็นผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ตนและคณะเสนอ เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (2) ข้อบังคับการประชุมสภาปี 63 ข้อ 119 ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ทั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ซึ่งห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ทำให้รัฐสภาไม่สามารถใช้หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

“ผมในฐานะ สส.จึงขอเสนอญัตตินี้ เพื่อให้รัฐสภาได้มีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และหากว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 แล้ว โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 หากไม่ได้จะต้องสอบถามในขั้นตอนใด” นายชูศักดิ์ กล่าว

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนยอมรับว่าหนักใจ ที่หลายฝ่ายต้องการบรรลุเป้าหมาย ว่ารัฐสภาแห่งนี้จะต้องมาร่วมพิจารณาญัตติดังกล่าว โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่เราทำคือการยื่นดาบให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง9คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่อาจไม่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวมาฟันธงชี้ขาดว่ารัฐสภาแห่งนี้ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมาก็มักจะเป็นเหมือนกล่องสุ่มไม่เป็นคุณต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากนัก

“แต่เหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกหนักใจมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะหากเราเดินตามหลักการประชาธิปไตย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ผมไม่คิดว่ารัฐสภาแห่งนี้จะต้องมาใช้เวลาหรือกำลังเพื่อมาพิจารณาญัตตินี้ตั้งแต่ต้นต้นตอสาเหตุที่ทำให้เรามาพิจารณาญัตติ เพราะประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างฯแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเข้าไปเมื่อช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และร่างฯของพรรคก้าวไกล เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าร่างฯดังกล่าวขัดคำวินิจฉัยของศาลฯที่4/2564” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจประธานรัฐสภา เพราะไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนไม่เห็นว่า ร่างฯของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่มีหลักการสอดคล้องกันจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลฯ โดยทั้ง2ร่างฯ มีหลักการคล้ายกันคือแก้มาตรา256 และเพิ่มเติมหมวด15/1 ที่จะส่งผลให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นหากทั้ง2ร่างฯผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทั้ง3วาระ ก็จะต้องมีการจัดทำประชามติ หากผ่านประชามติจากความเห็นชอบของประชาชน ก็จะมีส.ส.ร.มาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฯแล้วเสร็จ ร่างฯของทั้ง2ได้ระบุชัด ว่าจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับหรือไม่

“สรุปคำวินิจฉัยศาลฯที่4/64 แบบเข้าใจง่ายคือ คำวินิจฉัยดังกล่าวพูดถึงความจำเป็นในการทำประชามติ2ครั้ง ก่อนและหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมจึงไม่เห็นว่าร่างฯของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลฯผมได้รับข้อมูลว่าที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างฯดังกล่าวทั้ง2ร่างฯ เพราะตีความคำว่าเสียก่อน หมายถึงการทำประชามติเสียก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดๆที่เกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา ผมเข้าใจว่าประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุทั้ง2ร่างฯจนกว่าจะมีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก1ครั้งก่อนที่จะมีการเสนอร่างฯแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆเข้าสู่รัฐสภา ดังนั้นถ้าเดินตามนี้ก็จะต้องมีการทำประชามติ3ครั้ง” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เราจะหาข้อสรุปอย่างไร ในเมื่อคำวินิจฉัยศาลฯไม่มีตรงไหนที่บอกว่าจะต้องมีการทำประชามติเพิ่มอีก1ครั้งก่อนเสนอร่างฯแก้รัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าข้อความของคำวินิจฉัยศาลฯอาจทำให้เกิดความคลุมเครือได้ ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ไม่ยาก คือต้องไปดูคำวินิจฉันส่วนตนของตุลาการศาลฯ รายบุคคลทั้ง9คนเพื่อให้เข้าใจความหมายและเจตนาที่แท้จริงให้ชัดเจน แต่ตนตกใจว่ากระบวนการนี้ประธานรัฐสภายังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากตัวแทนของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ ยอมรับกับตนว่าศึกษาแค่คำวินิจฉัยกลาง ไม่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของทั้ง 9 ตุลาการศาลฯ ทั้งนี้จากที่ตนไปสรุปคำวินิจฉัยส่วนตนของ 9 ตุลาการศาลฯ พบว่ามีถึง 5 คน ที่วินิจฉัยว่าสามารถบรรจุร่างฯทั้ง2ได้ ทำให้พออนุมานได้ว่า คำวินิจฉัยกลางที่4/64 กำลังบอกกับเราว่าประธานฯสามารถบรรจุร่างฯทั้ง2ได้

“การตัดสินใจของประธานรัฐสภา ในการไม่บรรจุทั้ง2ร่างฯแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดสินใจสวนทางคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมหวังว่าประธานรัฐสภา จะทบทวน และตัดสินใจบรรจุร่างฯแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อเดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนเร็วที่สุด ด้วยกระบวนการชอบธรรมทางประชาธิปไตย” นายพริษฐ์ กลาว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img