วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
หน้าแรกNEWSเศรษฐกิจไทยฟื้นทุนจดทะเบียนไตรมาส 1/67 ทะลุ 6.8 หมื่นล้านบาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจไทยฟื้นทุนจดทะเบียนไตรมาส 1/67 ทะลุ 6.8 หมื่นล้านบาท

เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ไตรมาส1/ 67จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลทะลุ 2.5 หมื่นราย ทุนจดทะเบียน 6.8 หมื่นล้านบาทขณะที่ธุรกิจสายมูมาแรง หลายจังหวัดใช้ ‘ท่องเที่ยวสายมู’ เป็นไฮไลท์ดึงรายได้เข้าท้องถิ่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/67 (มกราคม – มีนาคม) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยเป็นปีที่เริ่มเข้าสู่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามสภาวะปกติ หลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกรมฯ ขอฉายภาพเศรษฐกิจที่เติบโตผ่านตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 25,003 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 67,940.55 ล้านบาท

ทั้งนี้ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,957 ราย ทุน 4,193.26 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,907 ราย ทุน 8,093.65 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,093 ราย ทุน 2,302.26 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 ประเภทธุรกิจคิดเป็น 7.83% , 7.63% และ 4.37% ของการจดทะเบียนรวมทั้งประเทศตามลำดับ ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งรวมกันของ 3 ธุรกิจในไตรมาส 1/67 มี จำนวน 4,957 ราย คิดเป็น 19.83% ของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมดในไตรมาส 1/67 และมีทุนจดทะเบียน 14,589.17ล้านบาท คิดเป็น 21.47% ของจำนวนทุนจดทะเบียนทั้งหมดในไตรมาส 1/67

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบรายไตรมาส พบว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจรวมลดลง 1,179 ราย หรือ 4.50% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2566 และทุนจดทะเบียนลดลง 271,645.88 ล้านบาท หรือ 79.99% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2566 (ไตรมาสแรกปี 2566 จัดตั้งธุรกิจ 26,182 ราย ทุนจดทะเบียน 339,595.43 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไตรมาส 1/67 ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 – 2566) โดยเป็นรองเพียงยอดจดทะเบียนในไตรมาส 1/66 เท่านั้น (ไตรมาส 1/66 จดทะเบียน 26,182 ราย)

ข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจสะสมแบ่งตามภาคธุรกิจ ไตรมาส 1/67 เป็นธุรกิจ ภาคบริการ 14,257 ราย ภาคขายส่ง/ขายปลีก 8,288 ราย ภาคการผลิต 2,458 ราย คิดเป็น 57.02% 33.15% และ 9.83% ของการจดทะเบียนรวม ทั้งประเทศตามลำดับ โดยมีรายละเอียดดังนี้


1. ภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,957 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,907 ราย
และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,093 ราย คิดเป็นสัดส่วน 13.73% , 13.37% และ 7.67% ของการจดทะเบียนรวมภาคบริการ ตามลำดับ


2. ภาคการผลิต ได้แก่ ธุรกิจปลูกพืชอื่นๆ ประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค 135 ราย ธุรกิจผลิตเครื่องหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ 115 ราย และ ธุรกิจการติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรม
และอุปกรณ์ 78 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5.49% , 4.68% และ 3.17% ของการจดทะเบียนรวมภาคการผลิต ตามลำดับ


3. ภาคขายส่ง/ขายปลีก ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 643 ราย ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ
ในร้านค้าทั่วไป 465 ราย และ ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ 347 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.76% , 5.61% และ 4.19% ของการจดทะเบียนรวมภาคขายส่ง/ปลีก ตามลำดับ

สำหรับสถิติของเดือนมีนาคม 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 7,733 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,146.14 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 มีอัตราการจัดตั้งลดลง 1,446 ราย หรือ ลดลง 15.75% และทุนจดทะเบียนลดลง 277,462.39 ล้านบาท หรือ ลดลง 92.61% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (มีนาคม 2566 จดทะเบียนจัดตั้ง 9,179 ราย ทุนจดทะเบียน 299,608.53 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกข้อมูลตามพื้นที่จัดตั้ง พบว่า ไตรมาส 1/67 มีการกระจายตัวของการเติบโตธุรกิจอยู่ทุกพื้นที่ โดยมีการจัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 7,296 ราย คิดเป็น 29.18% ของการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งประเทศ และจัดตั้งในพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 17,707 ราย คิดเป็น 70.82% ของการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งประเทศ โดยจังหวัด
ในส่วนภูมิภาคที่มีการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ชลบุรี 2,211 ราย ทุน 9,874.49 ล้านบาท 2) นนทบุรี 1,420 ราย ทุน 2,918.91 ล้านบาท และ 3) สมุทรปราการ 1,340 ราย ทุน 3,573.47 ล้านบาท

ข้อมูลจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจไตรมาส 1/67 จำนวน 2,809 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 11,943.57 ล้านบาท มีการเลิกประกอบธุรกิจลดลง 459 ราย หรือลดลง 14.05% และทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 17,949.05 ล้านบาท หรือลดลง 60.05% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 (ไตรมาส 1/66 ธุรกิจเลิกประกอบธุรกิจ จำนวน 3,268 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 29,892.62 ล้านบาท)


ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 296 รายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 154 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 107 ราย คิดเป็น 10.54% , 5.48% และ 3.81% ของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจรวมในไตรมาสที่ 1/67 ตามลำดับ

สำหรับสถิติของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีธุรกิจจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจจำนวน 911 รายทุนจดทะเบียน 5,582.28 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกลดลง 191 ราย หรือลดลง 17.33% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนลดลง 17,102.68 ล้านบาท หรือลดลง 75.39% (มีนาคม 2566
จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ 1,102 ราย ทุน 22,684.96 ล้านบาท)

ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 104 รายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 54 ราย และ ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 36 ราย คิดเป็น 11.42% , 5.93% และ 3.95% ของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจรวมทั้งประเทศในเดือนมีนาคม 2567 ตามลำดับ

ข้อมูลธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 การจดทะเบียนธุรกิจมีจำนวน 1,902,239 ราย ทุนจดทะเบียน 29.83 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 912,297 ราย ทุน 22.10 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น บริษัทจำกัด 709,556 ราย ทุน 15.88 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล201,283 ราย ทุน 0.48 ล้านล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 1,458 ราย ทุน 5.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.78% , 22.06% และ 0.16% ของนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ตามลำดับ

โดยประเภทธุรกิจที่มีการเติบโตที่น่าสนใจในไตรมาส 1/67 เทียบกับไตรมาส 1/66 ได้แก่
1. กิจกรรมด้านความบันเทิง เช่น กิจกรรมดนตรี งานศิลปะ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 64.00% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากการขยายตัวของการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่เน้นความบันเทิง (Shoppertainment) เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อขายสินค้าให้กับผู้บริโภค สำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 777.23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566


2. ธุรกิจขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 57.78% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่ชอบความประณีต และไทยยังมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น ประกอบกับแรงงานไทยมีความประณีตและเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ สำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 46.83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566


3.ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 47.62%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 66 (ไตรมาส 1/66) ซึ่งจะเติบโตตามปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์
ที่เพิ่มขึ้น ที่มีการตกแต่งอุปกรณ์เสริมต่างๆให้กับยานยนต์ เพื่อความสวยงามและการใช้งาน อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทำให้ผู้บริโภค เลือกซ่อมแซมยานยนต์เดิม รวมทั้งการทดแทนอะไหล่หรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน แทนการซื้อยานยนต์ใหม่


4. กิจกรรมสปา มีอัตราการเติบโตของจำนวนอยู่ที่ 35.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุต้องการกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ประกอบกับต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ชื่นชอบกิจกรรมสปาและสมุนไพรไทย สำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30.29% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 66

5. ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนอยู่ที่ 37.75% เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 66 (ไตรมาส 1/66) โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) กว่า 99.00% เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากอุปสงค์การท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเป็นไปในทิศทางบวก โดยไตรมาส 1/67 มีการจัดตั้งธุรกิจเป็น 9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ (ไตรมาส 1/66 มีการจัดตั้งธุรกิจเพียง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img