วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWSกูรูคาดปี 66 เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กูรูคาดปี 66 เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ  

“กอบสิทธิ์” มองตลาดการเงินผันผวนจากการเมือง-การใช้นโยบายการเงินตึงตัว โดยเฉพาะเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อหนุนดอลลาร์แข็ง คาดปีหน้าลดความร้อนแรง ขณะที่ไทยดอกเบี้ยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.25%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะความผันผวนของตลาดเงินยังมีอยู่ค่อนข้างมาก จากปัจจัยความไม่แน่นอนของการการดำเนินนโยบายต่างๆ และปัจจัยด้านการเมือง โดยปัจจุบันยอมรับว่าจากการทำนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งยังคงเห็นการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น และนักลงทุนต่างนำเงินเข้ามาพักในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นดาวเด่นในปีนี้

ด้านผลกระทบจากการที่เฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ เริ่มมีหลายฝ่ายได้วิเคราะห์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านเริ่มออกมาแสดงความกังวลในการนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าได้ ทำให้ในระยะต่อไปหรือในช่วงปี 66 คาดว่าจะเริ่มเห็นท่าทีของเฟดเริ่มลดความร้อนแรงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อกลับมาประคองเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ ให้อยู่รอดได้ หลังจากที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึงใกล้ระดับ 5% แล้ว เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนกับปี 51

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า จากการที่นักลงทุนนำเงินมาพักไว้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก แต่คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ อาจจะมีการขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯออกมาบางส่วนในช่วงที่ใกล้วันหยุดเทศกาลปลายปี เพื่อนำไปใช้ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯอาจพักตัวได้ในระยะสั้นได้

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนในตลาดเงิน และสินทรัพย์ต่างๆ มาจากการที่ทุกคนเพลิดเพลินกับ Free Money ที่เฟดพิมพ์ออกมา ทำให้เมื่อต้องหันมาจัดการกับสิ่งที่เฟดทำไปเพื่อประคองเศรษฐกิจ ทำให้ตอนนี้ภาวะตลาดเงิน และสินทรัพย์ต่างๆ มีความผันผวนเกิดขึ้น” นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นประเทศหลังๆ โดยในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพักใหญ่กว่าจะกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพในระยะยาว ซึ่งความหวังที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้มาจากภาคการท่องเที่ยวที่จะต้องมีนักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มขึ้นให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่จำนวน 39-40 ล้านคน ซึ่งยังต้องใช้เวลา โดยที่ประเมินว่าปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 13-20 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ค่อนข้างช้า หรือเป็นเพียงแค่การลงทุนเพื่อชดเชยค่าเสื่อมที่เกิดขึ้น รวมถึงการผลักดันโครงการลงทุนตามนโยบายของรัฐยังเดินหน้าได้ช้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังไม่มีความคืบหน้าใหม่ๆ ออกมามาก รวมถึงการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 65 ยังคงเติบโต 2.9% และปี 66 เติบโต 3.2-4.2%

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่ายังเห็นแนวโน้มที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ และช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวขึ้นต่อได้ และการที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 1.25% ต่อปี และปี 66 ที่ 2.5% ต่อปี

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img