วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
หน้าแรกHighlight‘กสิกรไทย’แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 กำไรแตะ 10,741 ล้านบาท!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กสิกรไทย’แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 กำไรแตะ 10,741 ล้านบาท!!!

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 กำไร 10,741 ล้านบาท แนะช่วงที่เหลือของ ปี 2566 ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2566 ยังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว แต่ภาพรวมการส่งออกสินค้ายังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงเติบโตในกรอบจำกัด สำหรับในช่วงที่เหลือของ ปี 2566 ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบ และเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทย และทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้อาจหดตัวลง นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศจากแรงกดดันด้านต้นทุน ค่าครองชีพ และปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยังคงเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน ธนาคารและบริษัทย่อยจึงยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร

ขัตติยา อินทรวิชัย

ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกัน
ของปีก่อน 4.19% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากการดำเนินงานและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้ ในไตรมาส  1 ปี 2566 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.84% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.46% แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตราร้อยละ 0.46 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 32.00% หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 13.82% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.50% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 7,550 ล้านบาท หลัก ๆ เกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2565 มีการตั้งสำรองฯในระดับสูงตามหลักความระมัดระวัง และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงหลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 42.50% ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.60%

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,238,084 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 8,285 ล้านบาท หรือ 0.20% หลัก ๆ เกิดจากเงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อใหม่ยังคงเติบโตในกลุ่มลูกค้าตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.04% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 156.68% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ระดับ 154.26% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.90% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1
อยู่ที่ 16.92%

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img